วิษณุเปิดอบรมแอพพ์ G-News ยอดโหลด 3.7 หมื่น เทียบสำนักข่าวเอกชน

“วิษณุ” เปิดอบรม “แอพพลิเคชั่น G-News โฉมใหม่ตามนโยบายรัฐบาล” ช่องทางใหม่ ส่งข่าวรัฐบาลถึงประชาชน-วัดผลงานหน่วยงานรัฐ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิด การอบรม “แอพพลิเคชั่น G-News โฉมใหม่ตามนโยบายรัฐบาล” โดยสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนบริการภาครัฐสู่ประชาชนด้วย G-News” โดยกล่าวว่า จากการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงเร่งผลักดันโครงการ “G-News” แอพพลิเคชั่นแจ้งข้อมูลข่าวสารภาครัฐภายใต้โครงการ GovChannel ศูนย์กลางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐจากจุดเดียวขึ้น เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือของข่าวลวง ข่าวลือ โดยเฉพาะข่าวในสังคมโซเชียลมีเดียที่ส่งต่อๆ กันจนไม่ทราบที่มา ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น “G-News” ได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารได้อย่างตรงใจประชาชน เห็นได้จากยอดดาวน์โหลดถึงปัจจุบันมีสูงถึง 37,000 ครั้ง มีผู้ดาวน์โหลดจากระบบแอนดรอยด์ 30,000 ราย และจากระบบไอโอเอส 7,000 ราย นับเป็นยอดการดาวน์โหลดเทียบเท่ากับสำนักข่าวภาคเอกชนเลยทีเดียว

นายวิษณุกล่าวว่า ในช่วงเวลาครึ่งปีที่ผ่านมาแอพพลิเคชั่น “G-News” มีปริมาณข่าวที่หน่วยงานราชการได้อัพโหลดเข้าระบบเฉลี่ย 2,200 ข่าวต่อเดือน จากหน่วยงานที่เข้าร่วม 80 หน่วย รวมแล้วมีข่าวที่เข้าระบบสูงถึง 16,000 ข่าว และจากผู้รับข่าวทั้งหมดมีข่าวส่งถึงมือผู้รับและได้อ่านถึง 330,000 ครั้ง ปริมาณการรับข่าวนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือน และเชื่อว่าทั้งจำนวนข่าว ยอดดาวน์โหลด และการอ่านข่าวผ่านแอพพลิเคชั่นจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้

นายวิษณุกล่าวว่า หากวัดความนิยมของหน่วยงานที่ส่งข่าวเข้ามาแล้วมีผู้อ่านสูงสุด อันดับ 1 คือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อันดับ 2 คือกรมประชาสัมพันธ์ และอันดับ 3 คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับหน่วยงานที่ส่งข่าวเข้ามาในระบบมากที่สุดคือ กรมประชาสัมพันธ์, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลำดับ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนบริการภาครัฐสู่ประชาชนด้วยแอพพลิเคชั่น “G-News” สำหรับเป็นช่องทางการแจ้งข่าวสาร ณ จุดเดียว ล่าสุดจึงมีการตั้งคณะทำงานทั้งในส่วนการปรับปรุงแอพพลิเคชั่นให้ใช้งานง่ายขึ้น โดยมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงในส่วนของเนื้อหาข่าว โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการรับสื่อแนวใหม่ของประชาชน เพื่อปรับรูปแบบเนื้อหาให้ดึงดูดความสนใจ มีความทันสมัย ตรงใจประชาชนมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญต้องเป็นแหล่งอ้างอิงได้ ทำให้ผู้ที่เข้ามาติดตามสามารถยืนยันและตรวจสอบความถูกต้องของข่าวที่เกี่ยวกับภาครัฐที่มาจากสื่ออื่นๆ ได้ โดยอัพเดตเวอร์ชั่นเพื่อเพิ่มคุณลักษณะพิเศษ (Feature) ต่างๆ เช่น พิมพ์ค้นหาข่าวที่สนใจ เลือกอ่านข่าวใหม่ล่าสุดของทุกหน่วยงานได้ทั้งหมด พร้อมแจ้งข่าวด่วนสถานการณ์เด่นให้ประชาชนแชร์ข่าวผ่าน Facebook ได้ทันที ประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้ทุกเครือข่าย

Advertisement

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “G-News” ต่อจากนี้ จะไม่ได้มุ่งผลักดันยอดดาวน์โหลดให้เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นพัฒนาเนื้อหาและการนำเสนอข่าวสารเพื่อกระตุ้นให้ยอดการอ่านข่าวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยอดดาวน์โหลดในปัจจุบัน พร้อมกับผลักดันให้หน่วยงานราชการเห็นความสำคัญของการนำข่าวสารในองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการและร่วมกันพัฒนาระบบราชการยุคใหม่ให้เกิดการบริการที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยวัดประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐต่างๆ ต่อไป

“คนเราจะเอาแต่ทำงานไม่ได้หากผลงานไม่ปรากฏ หรือบอกกล่าวแนะนำทำให้ประโยชน์ไม่ตกถึงประชาชน ทำให้เสียเปล่า ที่ผ่านมาส่วนที่ทำก็ทำมาตลอด แต่การสร้างความรับรู้ รัฐบาลเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ได้จัดตั้งกรมโฆษณาการ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางบอกข่าวไปยังประชาชนและนำสิ่งที่ประชาชนร้องเรียนมายังรัฐบาล ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำงานภายใต้ขีดความสามารถจนเทคโนโลยีโซเชียลออนไลน์เข้ามา การสนองความต้องการของประชาชนใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะภาคเอกชนนำโซเชียลมาทำเพื่อความบันเทิงและประโยชน์ส่วนตน รัฐจึงตระหนักว่าโลกออนไลน์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเร็ว สั้น กระชับ สามารถติดตามได้ทุกที่ ถ้าสามารถจัดระบบข่าวสารได้ถูกต้อง แม่นยำ ชัดเจน รวดเร็ว รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์คือการนำอิเล็กทรอนิกส์มาเกื้อกูลการทำงานของรัฐบาล เพราะเดิมล่าช้าไม่เที่ยงตรง ไม่ทั่วถึง แต่ระบบใหม่นี้สามารถเข้ามาทดแทนกำลังคน สติปัญญา จึงนำมาสร้างความเข้าใจจากรัฐสู่ประชาชน ระบบ “G-News” เป็นหนึ่งในโครงการ GOV-CHANNEL ที่เป็นช่องทางการสื่อสารของรัฐไปยังประชาชนบางกลุ่มให้รับรู้ ไม่เกลียด ไม่เบื่อ เพื่อส่งสัญญาณออกไป” นายวิษณุกล่าว

“ยืนยันว่าไม่ได้แข่งขันกับสื่อมวลชน ที่ “G-News” ไม่สามารถเทียบได้ ซึ่งประชาชนจะได้จะโยชน์และนำไปใช้ บางเรื่องประชาชนรู้อาจจะได้รับประโยชน์ และคิดหาช่องทางทำมาหากิน ซึ่งต่างชาติให้ความสนใจนำไปวิเคราะห์ อาทิ นักลงทุนหรือรัฐบาลต่างชาติ รัฐบาลตัดสินใจใช้ “G-News” เป็นช่องทางส่งข่าวที่คัดเลือกให้ส่งไปยังประชาชน หลังจากทดลองมากว่า 4-5 เดือน พบว่ามีคนให้ความสนใจเข้าไปดาวน์โหลดจำนวนมาก เช่น กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ กระทรวงมหาดไทย กรมประชาสัมพันธ์ แต่บางกระทรวงก็ไม่ส่งเลย ซึ่งคนที่เปิดบ่อยคือนายกรัฐมนตรีที่เข้าไปติดตามข่าวสารและติดตามการทำงานของกระทรวงต่างๆ ซึ่งหากรัฐมนตรีไม่สนใจก็คงไม่ได้ กระทรวงก็คงไม่สนใจไม่ได้ ดังนั้น ข้อมูลในแอพพ์จะต้องมีความหลากหลายและแม่นยำ เพราะข่าวลือข่าวลวงมีจำนวนมาก หากไม่มีช่องทางในการตรวจสอบ รัฐจึงต้องขอความร่วมมือกระทรวงทั้งหลายป้อนข่าวสาร รวมถึงประเมินคนอ่านในการพัฒนาติดตามระบบ ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมสถิติการอัพโหลดเพื่อประเมินการทำงานของส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่งผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งด้วย” นายวิษณุกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image