เปิดตัวโครงการนำร่อง “ลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้” ดึงโมเดิร์นเทรดชั้นนำ หนุนเศรษฐกิจชายแดนใต้

          ‘ลองกอง’ นับเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีกชนิดหนึ่ง และเป็นผลไม้หนึ่งที่ชาวสวนให้ความสนใจและนิยมปลูกกันมากโดยเฉพาะทางภาคใต้ ที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกลองกองขนาดใหญ่ของประเทศ และถ้าหากใครที่อยากทานลองกองที่หวาน เม็ดน้อย รสชาติอร่อยลิ้น ราคาไม่แพง ก็ต้องผลไม้ดีจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่านั้น

          ถึงกระนั้น แม้ ‘ลองกอง’ จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี จึงเกิดข้อจำกัดของตลาดลองกอง ไม่มีพ่อค้าต่างพื้นที่ไปรับซื้อเพราะไม่มั่นใจความปลอดภัย ลองกองจึงล้นตลาด ราคาถูก ส่งผลให้ชาวสวนลองกองหลายรายจำเป็นต้องทิ้งสวนไปทำอาชีพอื่นแทน สำหรับเกษตรกรชาวสวนลองกองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือว่ามีเทคนิคการปลูกลองกองและมีวิธีการเพิ่มผลผลิตที่เหมาะต่อสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี

          ดังนั้นคงน่าเสียดายไม่น้อยหากผลผลิตลองกองจะลดลงเนื่องจากเกษตรกรชาวสวนลองกองหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นเพราะเห็นว่าราคาผลผลิตลองกองตกต่ำและการซื้อขายลองกองเป็นไปด้วยความยากลำบาก ด้วยเหตุนี้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย

          คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ(E3) มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง พร้อมทั้งสร้างความแข็งแกร่งในช่องทางการตลาดให้มีมากขึ้น โดยล่าสุด ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่อง “ลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้” เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตลองกองของเกษตรกรไปยังห้างค้าปลีกในเครือข่ายภาคีความร่วมมือ โดยได้ผนึกกำลังร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่(Modern Trade) ชั้นนำของประเทศไทย

Advertisement

          ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีและแถลงข่าวการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนร่วมกันบริโภคลองกองจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

image03

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา

          พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานE3 เปิดเผยว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายมิติ ความยากจนเป็นหนึ่งในมิติสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย มีฐานะยากจน ประสบปัญหาขายผลผลิตไม่ได้ราคา และขณะนี้ผลผลิตของเกษตรกรชาวใต้ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดได้แก่ ลองกอง รัฐบาลมีความห่วงใยและตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกประชารัฐและแนวทางการมีวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าไปดูแลสร้างความยั่งยืน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับคณะทำงาน E3 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 12 คณะภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐที่มุ่งเน้นการบูรณาการทั้ง 5 ภาคส่วน อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน โดยทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือชุมชนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง กล่าวคือ ช่วยเหลือดูแลครบทั้ง 5 กระบวนการตามหลักการทำงานของคณะทำงาน E3 ได้แก่

1. การเข้าถึงปัจจัยการผลิต จัดหาแหล่งน้ำ แหล่งเงินทุน รวมทั้งพัฒนาพันธุ์

2. การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก การดูแลพันธุ์

3. การตลาด ได้เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยการจับมือกับโมเดิร์นเทรดชั้นนำของประเทศไทย

4. การสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืนด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงฤดูผลผลิตของลองกอง ซึ่งจะมีมากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ของทุกปี รวมทั้งร่วมรณรงค์ให้ตลอดเดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการบริโภคลองกอง และ

5. การบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการขนส่ง การทำบรรจุภัณฑ์ การดูแลเก็บรักษาผลผลิตไม่ให้เน่าเสีย เป็นต้น

image02

          นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท แสวงหาความร่วมมือจากผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ในการพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยมีเป้าหมายสำคัญคือ ความมั่นคง ความสงบสุข และการกินดีอยู่ดีของประชาชน ทั้งนี้ล่าสุดมีเกษตรกรผู้ปลูกลองกองจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการประมาณ 5,960 รายจากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 71,891 ราย ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรนำร่องกลุ่มแรกซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำไปสู่การทำเกษตรรูปแบบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือทำการเกษตรแบบประณีตเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดีสามารถขายได้ตามกลไกตลาดต่อไป

image05

การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ

          ขณะที่ด้าน การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวถึงเดินหน้าโครงการว่า ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกแบบสมุดประจำตัวเกษตรกร ซึ่งสมุดเล่มนี้จะระบุเลยว่าจำนวนเกษตรกรที่ปลูกลองกอง มีลองกองกี่ต้น มีการใจใส่ต้นลองกองตั้งแต่ก่อนออกดอก บำรุงรักษาเมื่อออกดอกและให้ผล หรือไม่ โดยข้อมูลเหล่านี้จะมีบัณฑิตอาสาประจำแต่ละหมู่บ้านเป็นผู้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบแล้วนำข้อมูลที่ได้มาบันทึกลงสมุด จากนั้นข้อมูลในสมุดก็จะถูกนำมาประมวลผลผ่านแอพพลิเคชั่นของเรา เพื่อประมวลผลว่าลองกองจะสุกช่วงวันไหน สัปดาห์ไหน รวมถึงผลลองกองที่ได้จะเป็นเกรดอะไร ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ผลลองกองที่ได้จะเป็นเกรด A และ B 40-50% ซึ่งจากเดิมมีแค่ 10–15% จากแปลงเกษตรกร

          ณรงค์ วุ่นซิ้ว หัวหน้าคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดผลไม้โดยเฉพาะลองกองตามนโยบายประชารัฐในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการอย่างครบวงจรด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นทาง คือ ส่งเสริมให้เกิดการทำเกษตรแบบประณีตเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตลองกองให้เป็นเกรด A และ B ส่วนกลางทางคือศูนย์คัดแยกและพ่อค้าคนกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจุดรวบรวมและคัดแยกลองกอง จนถึงปลายทางคือ ผู้บริโภค โดยการหาช่องทางการขายเพื่อกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

555

          การดำเนินงานดังกล่าวนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการในปีนี้ได้หันมาร่วมโครงการทำการเกษตรแบบประณีตให้ผลผลิตมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เป็นธรรม ทั้งนี้ได้มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ รวมถึงองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ขานรับนโยบายประชารัฐโครงการ “ลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์รับไปทั้งสิ้น 1,000 ตัน ซึ่งจะนำไปจำหน่ายผ่านห้างแมคโคร 750 ตัน และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 250 ตัน เทสโก้โลตัส รับไปทั้งสิ้น 915 ตัน ท๊อปส์ในเครือเซ็นทรัลรับไป 450 ตัน บิ๊กซีซึ่งเป็นของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจรับไป 215 ตัน กูร์เมต์ มาร์เก็ตในเครือเดอะมอลล์รับไป 50 ตัน ไทยเบฟเวอเรจรับไป 100 ตัน สภาเกษตรกรฯรับไป 200 ตัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรับไป100 ตัน มูลนิธิปิดทองหลังพระรับไป 75 ตัน ไปรษณีย์ไทยรับไป 40 ตัน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยรับไป 30 ตัน มหาวิทยาลัยบูรพารับไป 20 ตัน และนายมีชัย วีระไวทยะรับไปอีก 3 ตัน

          นับเป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องที่จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวสวนลองกองในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image