จ่อรื้อ 49 รีสอร์ตเกาะเสม็ด แจงเหตุเจ้าหน้าที่ละเลย จึงย้ายยกเกาะ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายสุเมธ สายทอง ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 2 (ศรีราชา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง โดยทางจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีผวจ.ระยองเป็นประธาน พร้อมเชิญตัวแทนจาก กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ฝ่ายความมั่นคง กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งได้ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวจะยึดจากการตรวจสอบเมื่อปี 2553-2559 เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละรีสอร์ตมีขอบเขตอยู่ตรงไหนบ้าง เป็นไปตามสัญญาของกรมธนารักษ์หรือไม่ และมีส่วนไหนที่สร้างเพิ่มเติมรุกล้ำในเขตอุทยานฯหรือไม่

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการจัดประชุมร่วมกันในเร็วๆ นี้ แต่เนื่องจากมีคำสั่งโยกย้ายหัวหน้าอุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา จึงต้องรอให้หัวหน้าอุทยานฯ คนใหม่เข้ามาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จึงมีการเลื่อนประชุมไปในช่วงกลางเดือนต.ค. นี้ พร้อมเชิญผู้ประกอบการร่วมลงนามข้อตกลงกับหน่วยงานราชการให้ทราบถึงหลักปฏิบัติ และหากมีสิ่งก่อสร้างใดที่รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยานฯ จะต้องทำการรื้อถอนทันที หากไม่ทำตามกรมอุทยานฯ จะทำการรื้อถอนตามกฎหมายพร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งเบื้องต้นผู้ประกอบการได้รับทราบในหลักการและพร้อมจะร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ส่วนผู้ประกอบการรายใดที่ยังไม่มีการทำสัญญากับกรมธนารักษ์ ก็ให้รีบไปทำสัญญาให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะถูกเพิกถอนทันที

ด้านพ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติ (ศปป.) ที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า กอ.รมน. พร้อมทำงานเชิงรุกร่วมกับทีมพญาเสือ ทีมฉลามขาว และทีมพยัคฆ์ไพร สังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อดูแลพื้นที่และทวงคืนผืนป่า ซึ่งเราทำงานไม่เจาะจงว่าต้องเป็นพื้นที่ใด แต่ได้ดำเนินการทั่วประเทศ พื้นที่เกาะเสม็ดก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทั้งนี้จะมีการร่วมประชุมกับคณะกรรมการเพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แหล่งข่าวจากกรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ในปี 2542 ได้มีการสำรวจวัดพื้นที่ทุกแปลงที่มีการก่อสร้างรีสอร์ตบ้านพัก ซึ่งมีผู้ประกอบการรวม 49 ราย โดยกรมอุทยานฯ มีแผนผังชัดเจนว่าขอบเขตแต่ละรีสอร์ทอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ขาดการดูแล ทำให้บางรีสอร์ตสร้างรุกล้ำไปถึงบริเวณชายหาด กั้นพื้นที่เป็นชายหาดส่วนตัว ปัญหาการบุกรุกพื้นที่เกาะเสม็ดจึงสะสมมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะมีการต่อเติมอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ และบางส่วนรุกล้ำเขตอุทยานฯ ซึ่งตามระเบียบหากมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ต้องให้กรมอุทยานฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายในพื้นที่อุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาเสม็ด รวม 79 ตำแหน่ง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรีสอร์ตที่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำอุทยานฯ และต้องมีการรื้อถอนมีจำนวน 49 แห่ง เช่น รีสอร์ตหาดทรายแก้วจำนวน 12 ราย อ่าวแสงเทียน 5 ราย อ่าวไผ่ 5 ราย อ่าววงเดือน 4 ราย อ่าวช่อ 3 ราย อ่าวทับทิม อ่าวนวล อ่าวกิ่ว พื้นที่ละ 1 ราย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องมาทำเอ็มโอยูกับคณะกรรมการฯ เพื่อดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากพื้นที่ต่อไป

ด้านนายรัชชัย พรพา หัวหน้าชุดปฏิบัติการฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงกรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าโสมที่ จ.ตราด ซึ่งผู้ครอบครองระบุว่ายินดีคืนพื้นที่ให้ทางราชการนั้น ว่า ถึงแม้จะคืนพื้นที่ แต่กระบวนการทางกฎหมายก็ยังต้องดำเนินการต่อไป เพราะเป็นเรื่องทางอาญาแล้ว นอกจากนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมเจ้าท่าก็ต้องมีการดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมายเช่นกัน ส่วนกรณีดังกล่าวต้องส่งให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทำงานตามปกติ ไม่มีความกดดันแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image