‘หมอประเสริฐ’ ชี้ ‘เด็กหัวเล็กจากซิกา’ 1-30% เกิดขึ้นได้ ขอราชวิทยาลัยสูติฯออกเกณฑ์วินิจฉัยด่วน!

ศ.เกียรติคุณนพ.ประเสริฐ ทองเจริญ

หลังจากนพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ออกมาเปิดเผยถึงการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ 33 คน จนพบว่า มี 3 คนที่คลอดเด็กทารก และพบความผิดปกติมีศีรษะเล็ก ขณะที่อีก 1 คน อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ยังไม่คลอด แต่อัลตราซาวน์พบความผิดปกติว่า ทารกอาจมีศีรษะเล็ก โดยขอให้รอผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ามาจากสาเหตุไวรัสซิกาด้วยหรือไม่นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เบื้องต้นทราบว่าทีมผู้เชี่ยวชาญ และ แพทย์ อยู่ระหว่างติดตาม ตรวจสอบเด็กที่คลอดออกมาและมีภาวะศีรษะเล็กตามที่เป็นข่าว ว่า มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซีกาจากแม่หรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า และทางคณะกรรมการวิชาการก็จะมีการประชุมหารือในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูล และสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่อยากให้แตกตื่น เพราะต้องยอมรับก่อนว่า เชื้อซิกาอยู่กับประเทศไทยมานานแล้ว โดยกรณีทารกศีรษะเล็กจากการติดเชื้อซิกานั้น จากข้อมูลในต่างประเทศมีการรวบรวมกว้างๆว่า หากมารดาติดเชื้อไวรัสซิกา ก็จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะศีรษะเล็กได้ ตั้งแต่ร้อยละ 1 ไปจนถึงร้อยละ 30

“ยกตัวอย่างง่ายๆ จากอัตราความเสี่ยงดังกล่าว 1-30 % หากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ติดตามแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ประมาณ 30 คน หากมีภาวะติดเชื้อซิกาจริง และหากส่งผลให้เด็กมีภาวะหัวเล็กจริง สมมติ 3-4 คนใน 30 คน ก็ถือว่ายังอยู่ในอัตราความเสี่ยงที่เป็นไปตามความคาดหมาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะอย่างสหรัฐอเมริกายังพบเป็น 10 ราย บราซิลพบเป็นพันๆรายด้วยซ้ำไป แต่ทั้งหมดขอให้รอผลการยืนยันจากห้องปฏิบัติการก่อน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว และว่า จริงๆ ราชวิทยาลัยสูติฯ ควรทำแนวทางการตรวจวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์ว่ามีภาวะติดเชื้อซิกาหรือไม่ และจะดูอย่างไรว่าเด็กมีโอกาสติดเชื้อและมีภาวะศีรษะเล็ก ซึ่งทราบว่าขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และคณะทำงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และราชวิทยาลัยสูติฯ ได้หารือร่วมกันและออกแนวปฏิบัติในการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ที่มารดาติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว โดยหากพบว่าหญิงตั้งครรภ์รายใดที่มีอาการป่วยจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อเชื้อไวรัสซิกาจริงหรือไม่ หากพบเชื้อก็จะมีการติดตามอัลตร้าซาวด์ วัดขนาดศีรษะทารกในครรภ์ว่าเล็กกว่าเกณฑ์ปกติหรือไม่และ ตรวจว่ามีหินปูนเกาะที่สมองทารกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะพบความผิดปกติในเด็กศีรษะเล็กที่อยู่ในครรภ์ เมื่ออายุครรภ์มากแล้ว จึงยากที่จะทำการยุติการตั้งครรภ์

Advertisement

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กรณีทารกศีรษะเล็กมีหลายสาเหตุ จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กมีชีวิตและมีอาการศีรษะเล็ก 4.36 ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยพบได้ 200-300 รายต่อปี ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 1.การติดเชื้อในกลุ่ม STORCH (Syphilis, Toxoplasmosis, Rubella, Cytomegalovirus, Herpes) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและปรสิตบางชนิดที่สามารถติดเชื้อได้ในคนทั่วไปและมีความสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิด 2.ได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เช่น สารโลหะหนัก เป็นต้น 3.มีความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด และ 4.ภาวะการขาดสารอาหารอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าภาวะศีรษะเล็กมีความเชื่อมโยงกับเชื้อไวรัสซิกา แต่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียว อาจมีปัจจัยร่วมอย่างอื่นด้วยที่ทำให้เกิดศีรษะเล็ก ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image