‘บิ๊กตู่’ โชว์ ‘ยูเอ็น’ ผ่อนคลายการเมือง และเสียงจาก’ปู’

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ล่าสุดด้วยเนื้อความที่ยาวผิดปกติ

ทั้งนี้เพราะหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจและนั่งแทนนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอยู่เงียบๆ

ไม่พูด แต่ออกไปโพสต์ ณ บริเวณนั้น ลงเฟซบุ๊ก ณ บริเวณนี้

หรือหากจะแสดงความคิดเห็นใดๆ มักแสดงความเห็นผ่านทางออนไลน์

Advertisement

ส่วนการให้สัมภาษณ์นั้น น้อยครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะออกมาพูดเช่นเมื่อท้ายสัปดาห์ที่แล้ว

น้อยครั้งที่จะพูดอย่างมีเนื้อมีหนัง

โดยเฉพาะ การเปิดใจถึงกรณี ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดี “ทำให้น้ำท่วมใหญ่” เมื่อปี 2554

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์สรุปความได้ว่า ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นการกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตผู้นำฝ่ายค้าน

ไม่เข้าใจทำไม ป.ป.ช.ถึงทำเช่นนั้น เพราะตอนเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น้ำได้ท่วมอยู่แล้ว

ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงโดนอยู่คนเดียว

นั่งอยู่ดีๆ ก็ต้องมารับเรื่องหมด ตอนนี้มีถึง 15 คดีแล้ว พอส่งทนายไปคัดค้านต่อ ป.ป.ช. ก็ถูกปฏิเสธคำร้องทุกครั้ง

อยากร้องผ่านสื่อมวลชนและสาธารณชน อยากให้ปฏิบัติเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้ว่า คดีตัวเองถูกร้องนั้นมีการดำเนินการเร็วมาก รับทุกเรื่อง พิจารณาทุกเรื่อง แต่คดีของผู้อื่นไม่คืบหน้าเลย

นั่นเป็นข้อแคลงใจแรกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตั้งข้อสังเกต

 

ยังมีข้อแคลงใจถึงเรื่องการใช้ ม.44 ตามมา

เรื่องของมาตรา 44 ให้อำนาจกรมบังคับคดีในการยึดทรัพย์จากการใช้คำสั่งทางปกครองสั่งชดเชยค่าเสียหายในการจำนำข้าวนั้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า สิ่งแรกที่มองคือผลของคดียังไม่รู้ แต่ออกคำสั่งมาตรา 44 มอบอำนาจให้กรมบังคับคดีไว้แล้ว

เหมือนเป็นการชี้นำคดี ถือเป็นความไม่ยุติธรรม

ถ้ามั่นใจว่ากระบวนการทั้งหมดโปร่งใสและเป็นธรรม…ทำไมต้องใช้มาตรา 44 ด้วย

ถ้ามั่นใจว่าข้าราชการทำถูกก็ไม่ต้องกลัวถูกฟ้อง

วันเดียวกัน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.

เป็นการยื่นครั้งที่ 8 เพื่อคัดค้านการแต่งตั้ง น.ส.สุภา เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง

นายนรวิชญ์ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดนร้องทั้งหมด 15 คดี ในจำนวนนี้ 6 คดี มี น.ส.สุภาเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ

เช่น กรณีถูกกล่าวหาแทรกแซงหรือเอื้อบุคคลในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ กรณีกล่าวหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ กรณีถูกกล่าวหาเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง

มี 1 คดี ที่มี นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่กลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง

นายนรวิชญ์ระบุสาเหตุที่คัดค้านการแต่งตั้งประธานอนุกรรมการฯดังกล่าวว่า น.ส.สุภา เคยเป็นประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว และมีเหตุให้ข้อมูลการปิดบัญชีหลุดออกไปถึงมือฝ่ายค้าน และยังเคยไปเป็นพยานเบิกความในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

นายนรวิชญ์ชี้ว่า น.ส.สุภา ถือเป็นคู่ขัดแย้งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างชัดเจน

 

การเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทนายความ เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อขึ้นกล่าวในเวทียูเอ็น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ในหัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา”

พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ปี 2559 เป็นปีที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติครบ 70 ปี และเป็นปีแรกที่เริ่มต้นนำวาระสำคัญของโลกสู่การปฏิบัติ

รัฐบาลไทยเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากสันติภาพและความมั่นคง หรือหากสิทธิของประชาชนถูกละเมิดและไม่ได้รับการยอมรับ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงสถานการณ์ภายในประเทศว่า รัฐบาลได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ประชาชนได้ใช้สิทธิลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว

ขณะนี้กำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ให้แล้วเสร็จ นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแมปได้ในปลายปี 2560

การออกเสียงประชามติสะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ

รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง

และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นต้น

น่าสังเกตว่า ข่าวสารคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ กับข่าวสารคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกิดขึ้นในวันเดียวกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในเวทียูเอ็นยืนยันการให้สิทธิเสรีภาพประชาชน

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้องขอความยุติธรรมผ่านสื่อมวลชน

ข่าวสารที่ปรากฏออกไปสู่ภายนอก จึงเป็นข่าวสารที่ “สวนทางกัน”

และกลายเป็นความท้าทายที่ต้องจับตาเฝ้ามองกันต่อไป

ทั้งการดำเนินการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งการดำเนินการขององค์กรอิสระ

ต้องเฝ้าจับตามองว่า ยึดติดเกาะเกี่ยวกับ “นิติรัฐ-นิติธรรม” มากน้อยเพียงใด

ยังต้องเฝ้าติดตามกระบวนการทางยุติธรรม

การใช้มาตรา 44 ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นเพราะข้าราชการไม่มั่นใจ

ไม่มั่นใจว่าจะถูกผู้ถูกร้องฟ้องกลับในภายหลัง

จึงต้องใช้มาตรา 44 เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดแก่ฝ่ายราชการ …ใช่หรือไม่

หมายความว่า หากไม่ใช้มาตรา 44 คุ้มครอง ข้อเรียกร้องที่รัฐกระทำต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก อาจจะผิดก็ได้ …ใช่หรือเปล่า

รวมไปถึงการใช้ “คู่ขัดแย้ง” ตามทรรศนะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทนาย มาเป็นประธานคณะกรรมการไต่สวน

กรณีเช่นนี้ ถูกต้องตาม “นิติรัฐ-นิติธรรม” แค่ไหน

ทุกอย่างที่ปรากฏ แพร่กระจายไปทั่วโลก

เป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เดินทางไปยูเอ็นก็เพื่อพูดให้โลกฟัง

เป้าหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ออกมาให้ข่าวต้องคดีทำน้ำท่วม ก็เพื่อให้โลกได้ยิน

ฟ้องให้โลกได้รู้ว่ารัฐบาลไทย “ทำ”ตรงกับ “พูด” หรือไม่

ผลจากเสียงที่ส่งออกไปจะเป็นเช่นไร ปฏิกิริยาต่างๆ คงจะปรากฏให้เห็นได้ในเวลาอันใกล้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image