พบดาวเคราะห์ โคจรรอบดวงอาทิตย์ 2 ดวง!

ภาพจาก NASA, ESA, and G. Bacon

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า แทนที่จะเจอพระอาทิตย์ 1 ดวง แต่กลับต้องเจอพระอาทิตย์ 2 ดวง จะเป็นอย่างไร

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สเปซดอตคอม รายงานไว้ว่า นักดาราศาสตร์พบความน่าตื่นตาตื่นใจ หลังมีภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลสเปซ ที่แสดงให้เห็นว่า มีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่โคจรรอบๆ ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กัน 2 ดวง แทนที่จะเป็น 1 ดวงอย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้

จริงๆ แล้วเป็นที่รู้กันดีว่า มีดาวเคราะห์อยู่หลายดวงที่โคจรรอบๆ ดาวฤกษ์หลายดวง มีตั้งแต่ 2-3 ดวงขึ้นไป แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถยืนยันเรื่อง “ดาวบริวารดาวคู่” ได้ ด้วยการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า ไมโครเลนส์ของแรงโน้มถ่วง ที่เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง ที่สามารถใช้ในการตรวจจับวัตถุที่มีขนาดมวลเท่าดาวเคราะห์ไปจนถึงมวลขนาดดาวฤกษ์ได้

โดยในระบบดาวคู่ คือระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ 2 ดวงโคจรไปรอบๆ จุดศูนย์กลางมวลของระบบดาวแต่ละดวงที่ถือว่าเป็นดาวเพื่อนของอีกดวง เมื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งผ่านหน้าดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่ง จากมุมมองของโลก แรงโน้มถ่วงจากดาวที่อยู่ใกล้กว่า จะทำให้แสงของดาวฤกษ์ที่อยู่ทางด้านหลังเกิดการหักเหและขยายออก ซึ่งนักดาราศาสตร์จะสามารถทำการไขปัญหาเกี่ยวกับดาวที่อยู่ด้านหน้าได้จากแสงที่หักเหดังกล่าว รวมไปถึงดาวเคราะห์อื่นๆ ที่โคจรรอบระบบดาว

Advertisement

สำหรับดาวที่พบว่าโคจรรอบดาวฤกษ์ 2 ดวงนี้ มีชื่อว่า OGLE-2007-BLG-349 อยู่ห่างจากโลก 8,000 ปีแสง ไปทางศูนย์กลางของทางช้างเผือก โดยถูกพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2007 จากการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์รอบโลก

โดยในตอนแรกที่มีการค้นพบว่า นักดาราศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์เพียงหนึ่งดวงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้มาบ่งชี้ว่า ยังพบวัตถุชิ้นที่สามอยู่ด้วย แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าวัตถุดังกล่าวคืออะไร

เดวิด เบนเน็ตต์ จากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) จากเมืองกรีนเบลต์ รัฐแมรีแลนด์ ระบุในแถลงการณ์ว่า จากข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์ชี้ให้เห็นว่า อาจจะเป็นไปได้สองอย่างสำหรับการที่มีวัตถุสามสิ่งอยู่ในระบบ อย่างแรกคือ มีดาวเคราะห์อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์คู่หนึ่ง หรือมีดาวเคราะห์ 2 ดวง โคจรอยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง

Advertisement

และเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น ทีมนักดาราศาสตร์จึงได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลสเปซ เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์บนอวกาศจะให้ความคมชัดในการถ่ายภาพบนอวกาศที่ลึกซึ้งได้ดีกว่ากล้องโทรทรรศน์บนโลก และภาพความละเอียดสูงที่ได้จากกล้องฮับเบิล ก็แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของระบบดังกล่าว โดยเห็นถึงความว่างของดาวฤกษ์สองดวงอย่างชัดเจน

บทความในวารสารดาราศาสตร์ ระบุว่า ในสิ่งที่ได้พบเห็น ไม่ใช่รูปแบบของดาวเคราะห์สองดวง และดาวฤกษ์หนึ่งดวงอย่างแน่นอน เพราะรูปแบบของดาวเคราะห์สองดวงคงไม่สามารถทำให้เกิดแสงสว่างอย่างที่ภาพถ่ายมาได้อย่างแน่นอน ขณะที่ระบบดาวเคราะห์สองดวงโคจรรอบดาวแคระ ยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

“ดังนั้น รูปแบบที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ มีดาวฤกษ์อยู่ 2 ดวง และดาวเคราะห์ 1 ดวง น่าจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลมากที่สุด” เบนเน็ตต์ สรุป และว่า นี่คือประโยชน์ของกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลที่จะช่วยบอกถึงเรื่องราวของดาวเคราะห์นอกระบบได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image