ป.ป.ช.แทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติได้หรือ? โดย คณิน บุญสุวรรณ

การตรากฎหมายและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถือเป็นอำนาจหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของรัฐสภา หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของชาติ ตามรัฐธรรมนูญ

ในกระบวนการตรากฎหมายและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภา ซึ่งใช้อำนาจและมีเอกสิทธิ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแล้วแต่กรณี

ข้อบังคับการประชุมสภาทั้ง 3 ฉบับนั้น ถ้าจะเทียบเคียงว่าเป็น “กฎหมาย” ชนิดหนึ่งก็คงจะได้แต่เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภา

ผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันในฐานะสมาชิกรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือแม้แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำของรัฐสภาที่เรียกว่า “ข้าราชการรัฐสภา” ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ

Advertisement

ที่สำคัญจะใช้บังคับแต่เฉพาะกับกรณีการดำเนินกิจการตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือที่ในข้อบังคับการประชุมสภาในสมัยก่อนๆ เรียกว่าอยู่ใน “วงงานของสภา” เท่านั้น ผู้ใดจะนำข้อบังคับการประชุมสภาไปใช้บังคับแก่บุคคล องค์กร หรือกิจการที่อยู่ภายนอกวงงานของสภา หาได้ไม่

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ใน “วงงานของสภา” โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสภาการเสนอญัตติ การจัดระเบียบวาระ การเสนอร่าง

พระราชบัญญัติ การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม การพิจารณาญัตติ การอภิปราย การลงมติ หรือการตั้งกระทู้ถาม และ ฯลฯ บุคคลหรือองค์กรภายนอกรัฐสภา หรือแม้แต่บุคคลที่อยู่ในวงการรัฐสภาด้วยกันเอง จะไปนำกฎหมายอื่นใดมาใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกรัฐสภาที่ใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาไม่ได้ เช่นเดียวกัน

ซึ่งก็คงจะเป็นในลักษณะเดียวกันกับที่องค์กรภายนอกศาล ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายบริหาร หรือแม้แต่องค์กรอิสระ ไม่สามารถนำกฎหมายอื่นใดไปใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาตุลาการ ซึ่งใช้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และดำเนินการตามกฎระเบียบ วิธีพิจารณา และธรรมนูญศาลได้ นั่นแหละ

เพราะถ้าไม่เช่นนั้น หลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นอิสระต่อกันและสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ ก็จะไร้ความหมาย เหตุเพราะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการจะถูกแทรกแซงได้ตลอดเวลา ทั้งโดยฝ่ายบริหารหรือองค์กรอิสระ และนั่นจะกลายเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่องค์กรภายนอกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายบริหาร หรือแม้แต่องค์กรอิสระ จะรับคำร้องที่กล่าวหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกรัฐสภาว่ากระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ไว้พิจารณาตามกฎหมายที่ตนมีอำนาจใช้บังคับได้หรือไม่นั้น

สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ จะสามารถนำกฎหมายเช่นว่านั้นมาใช้บังคับกับสมาชิกสภาซึ่งใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมสภาโดยเฉพาะได้หรือไม่?

ลำดับต่อไปก็ต้องดูว่า สมาชิกสภาที่ถูกร้องหรือถูกกล่าวหานั้นเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่ใช้อำนาจทางบริหารอันจะส่งผลกระทบเป็นการให้คุณให้โทษแก่บุคคลทั่วไปหรือไม่? หรือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งกำลังใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ?

และในประการที่สาม เนื้อหาแห่งคดีที่ถูกร้องหรือถูกกล่าวหา เป็นเรื่องที่สมาชิกสภาได้กระทำต่อบุคคลหรือองค์กรอื่นภายนอกรัฐสภาหรือไม่ หรือว่าเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะที่สมาชิกสภาจะกระทำหรือดำเนินในวงงานของสภาโดยเฉพาะเท่านั้น?

ถ้าพิจารณาแล้ว คำร้องไม่เข้าองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใด หรือทั้งสามข้อ องค์กรภายนอกรัฐสภาเหล่านั้น ก็ไม่ควรจะรับเรื่องนั้นไว้พิจารณาตั้งแต่ต้น

เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการก้าวล่วงอำนาจและเอกสิทธิ์ของรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของชาติได้

ต่อกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติตั้งข้อกล่าวหาแก่ 40 อดีต ส.ส.ที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. … ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดต่อนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ โดยการสลับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและรู้เห็นเป็นใจกับการสลับร่างดังกล่าว ซึ่งความละเอียดแจ้งอยู่แล้วทางสื่อมวลชนนั้น

ผมเห็นว่า ข้อกล่าวหาทั้งสองกรณีดังกล่าว ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะทำให้ทั้ง 40 อดีต ส.ส. นายอุดมเดช รัตนเสถียร และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ต้องตกเป็นผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาได้เลย

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบในด้านข้อกฎหมายที่ ป.ป.ช.จะนำไปใช้บังคับแก่สมาชิกสภา ซึ่งใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุมสภา

องค์ประกอบในด้านการเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ในฐานะสมาชิกสภาที่ไม่ได้ใช้อำนาจทางบริหารอันจะส่งผลกระทบในทางให้คุณให้โทษแก่บุคคลหรือองค์กรภายนอกรัฐสภาแต่อย่างใด

รวมทั้งองค์ประกอบในด้านกระบวนการทางสภา ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของสภาและสมาชิกสภา โดยเฉพาะที่จะดำเนินการภายใต้ข้อบังคับการประชุมสภา ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติหรือขั้นตอนในการดำเนินงานของสภา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่สามนั้น ถ้าจะนำกฎหมายอื่นใดมาใช้บังคับแก่สมาชิกสภาอันเป็นการหักล้างหรือตีความข้อบังคับการประชุมสภาโดยองค์กรภายนอกรัฐสภา ย่อมถือเป็นการก้าวล่วงมาใช้บังคับและวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมสภา อันเป็นอำนาจและเอกสิทธิ์ของสภาอย่างชัดเจน

เพราะเหตุว่า เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาเสนอก็ดี ขั้นตอนในการปรับปรุงแก้ไขญัตติก่อนที่ประธานสภาจะสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระก็ดี ส.ส.จะใช้ดุลพินิจอย่างไร จะผิดจะถูกอย่างไร จะลงมติอย่างไร หรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดหรือไม่ เป็นเรื่องที่สภาจะวินิจฉัยได้เอง ไม่ใช่เรื่องที่องค์กรภายนอกรัฐสภาอย่าง ป.ป.ช.จะมาวินิจฉัย

ด้วยเหตุนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสองกรณีที่กล่าวข้างต้นจะได้รับการพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นธรรม ทั้งต่อผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน และต่อประชาชนที่ได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เหล่านั้น เข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image