วิษณุแจงยึดทรัพย์ ยอดเต็ม 1.7 แสนล้าน ปูโดน 3.5 หมื่นล้าน ที่เหลือไล่เก็บคนอื่น

“วิษณุ” แจงขั้นตอนยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์ เผยเสียหาย 1.7 แสนล้านบาท “ปู” จ่าย 3.5 หมื่นล้าน ที่เหลือค่อยไล่เอากับคนอื่น

วันนี้ (26 ก.ย.) เวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนการดำเนินการหลังได้รับทราบข่าวจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว รายงานตัวเลขสรุปเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวว่า กระบวนการหลังจากนี้ก็คงเป็นกรณีเดียวกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกฯรับทราบ

เมื่อถามว่าทำไมยอดเงินเรียกค่าเสียหายจากเดิม 2.8 แสนล้านบาทจึงเหลือ 3.5 หมื่นล้านบาท นายวิษณุกล่าวว่า เป็นการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง เพราะตอนพิจารณาครั้งแรกมูลค่าความเสียหายจริงที่ประเมินไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่หมายถึงมูลค่าทั้งหมดที่ไม่รู้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการชุดที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว เห็นว่าควรมีการรับผิดทั้งหมด 4 ฤดูกาลเป็นเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่งได้ให้ความเป็นธรรม ว่าความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทุจริต แต่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หลังจากมีการแจ้งเตือน เพราะฉะนั้นฤดูการผลิตที่ 1 และ 2 ไม่มีการเตือน จากนั้นเมื่อมีการเตือนมาในฤดูการผลิตที่ 3 และ 4 คือ การผลิตในปี 2555-2556 และปี 2556-2557 รวมแล้ว 2 ฤดูกาลผลิต แต่ยังมีการปล่อยปละละเลยก็ถือว่ามีความผิดเฉพาะ 2 ฤดูกาลนี้ ดังนั้นมูลค่าความเสียหายจาก 2.7 แสนล้านบาท ก็ต้องลดลงมาเหลือ 1.7 แสนล้านบาท

“ในจำนวนเงิน 1.7 แสนล้านบาท การจะต้องพิจารณาว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหลักเกณฑ์ที่ใช้ปฏิบัติมา 4-5 ปีแล้วว่า กรณีที่เป็นความรับผิดแบบทำกันหลายคนจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนการรับผิด ซึ่งมีการกำหนดไว้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการละเลย ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ก็ไปเฉลี่ยกับผู้ที่มีส่วนทำความผิด ซึ่งในครั้งนี้มีการประเมินกันว่าควรจะเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขจึงออกมาอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท จาก 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดมีหลักเกณฑ์และสามารถอธิบายได้ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความหมายก็คือ ถ้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สมมุติมีผู้รับผิด 10 คน 9 คนไม่มีจ่าย คนที่ 1 ที่มีจ่ายต้องจ่ายทั้งหมดแล้วค่อยไปเก็บจากคนที่เหลือเอาเอง หมายถึงการรับผิดแทนได้ทั้งหมด แต่ถ้ากฎหมายบัญญัติว่า ไม่รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็คือ ส่วนของใครก็ของมัน จะให้คนอื่นมารับหนี้แทนไม่ได้ กรณีนี้ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องรับผิดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงที่รับผิดชอบต้องไปหาบุคคลที่จะมารับผิดร่วมเอง” นายวิษณุกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่านายกฯจะต้องเซ็นคำสั่งหรือมีคำสั่งด้วยตัวเองอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ก็แล้วแต่นายกฯ เพราะสามารถที่จะมอบอำนาจต่อไปได้และการดำเนินการกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่องค์กรอิสระเลือกปฏิบัติ แต่เมื่อมีคนร้องก็ต้องดำเนินการสอบสวนและดำเนินการใน 3 ทาง คือ ส่งเรื่องถอดถอน ส่งฟ้องคดีอาญา และส่งให้ดำเนินการทางแพ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ สำหรับการรับผิดในทางแพ่งเป็นเรื่องของกระทรวงซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่มีหน้าที่เรื่องของแพ่ง มีหน้าที่หากมีความผิดต้องดำเนินคดีทางอาญา

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 ในการยึดทรัพย์นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ได้มีการใช้คำสั่งมาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งต้นหากมีการวินิจฉัยว่าผิดตาม พ.ร.บ.การละเมิดฯ และหากสรุปว่าผิดและต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่าใดก็จะดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือ การไปยึดทรัพย์ เว้นแต่มีการฟ้องศาลให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่รับผิดชอบ แต่เมื่อมูลทรัพย์มีค่าจำนวนมาก กระทรวงที่รับผิดชอบไม่มีความเชี่ยวชาญในการเข้าไปยึดก็ควรจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางนั้น คือกรมบังคับคดี จึงมาเข้าส่วนที่ 3 ในคำสั่งมาตรา 44 ที่ให้กรมบังคับคดีเป็นผู้เข้าไปจัดการ ซึ่งในอดีตก่อนรัฐบาลชุดนี้ก็เคยมอบหมายให้กรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ โดยจะยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลและการเข้าไปดำเนินการยึดทรัพย์ของกรมบังคับคดีนั้นจะมีการใช้อำนาจบางอย่าง เช่น การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินใดๆก่อนหน้านี้ถ้าเข้าข่ายลักษณะโอนหนีหนี้ กรมบังคับคดีสามารถเพิกถอนได้ แต่ถ้าเป็นการทำสัญญาซื้อขายโดยสุจริตเป็นปกติ ถึงเวลาที่ต้องโอนทรัพย์ก็สามารถทำได้ไม่ถือว่าเป็นการโอนหนีหนี้

เมื่อถามว่าถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะมีการฟ้องล้มละลายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปถึงขั้นนั้น เพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี อย่าลืมว่าถ้าฟ้องล้มละลายจะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ และขอยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่มีการลัดขั้นตอน ทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนหรือเพิ่มด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามอายุความในการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดมีอายุความถึง 10 ปี หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินออกมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image