ปนัดดารับหนักใจ’สหกรณ์คลองจั่น’ เสนอรัฐบาลงัดม.44 สางปัญหา ฟื้นฟูหนี้

ปนัดดาหนักใจ “สหกรณ์คลองจั่น” เสนอรัฐบาลงัด ม.44 สางปัญหา ฟื้นฟูหนี้

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือการจัดหาแหล่งเงินทุน สนับสนุนการฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ร่วมกับตัวแทนผู้ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อติดตามความคืบหน้าการสนับสนุนสินเชื่อวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อดำเนินการฟื้นฟูสหกรณ์ มีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม ใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง

นายประกิต พิลังกาสา ประธานคณะกรรมการดำเนินการ กล่าวว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯได้รับฟังข้อร้องเรียนและแนวทางที่ทางตัวแทนสมาชิกสหกรณ์เสนอไปพิจารณา เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยคาดการณ์ว่าจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาภายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าขั้นตอนเกิดความล่าช้า เนื่องจากติดขัดในระเบียบขั้นตอนของธนาคารที่ยังไม่มีแนวทางเกี่ยวกับเงินต้นที่สหกรณ์อื่นจะมาร่วมลงทุน รวมถึงทิศทางความเป็นไปได้ จึงเกิดอุปสรรคไม่สามารถกำหนดแนวทางการฟื้นฟูหนี้ของสหกรณ์ จึงอยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจน หรืออาจใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วยเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น

ด้านนายพิเชษฐ์กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯได้ประสานสอบถามไปถึงบอร์ดบริหารธนาคารภาครัฐแต่ยังไม่ได้คำตอบกลับ ซึ่งแนวทางที่ทางธนาคารเห็นว่ามีความเป็นไปได้ คือ 1.ตั้งกองทุนรวม วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยเหลือสหกรณ์คลองจั่น โดยให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาบริหารจัดการในการขายหน่วยลงทุน ซึ่งจะเริ่มในเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะได้วงเงินประมาณ 28 ล้านบาท และ 2.ให้ธนาคารรัฐคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 5,700 ล้านบาท โดยรวมกับการขายทรัพย์สินของสหกรณ์และนาแปรรูปเป็นเงิน ประมาณ 900 ล้านบาท และเงินที่ศาลสั่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์ 3,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 4,200 ล้านบาท หากแนวทางดังกล่าวธนาคารเห็นด้วยและตอบรับกลับมาก็จะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไปภายในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะต้องมาพูดคุยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางอื่นต่อไป

Advertisement

ขณะที่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้เราหนักใจ ส่วนการเสนอใช้มาตรา 44 คงไม่ใช่เรื่องดีที่จะใช้มาตราพิเศษมาอำนวยความสะดวกในราชการ และอาจเป็นการกดดันการทำงานของข้าราชการพลเรือน แต่อย่างไรก็ตามเราจะพยายามเร่งรัดในส่วนของขั้นตอนเพื่อให้ผู้บริหารได้นำไปพิจารณา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยเร็ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image