สุจิตต์ วงษ์เทศ : อุษาคเนย์นาคตัวเมีย อินเดียนาคตัวผู้ มีทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขง

พญานาคมีในแม่น้ำเจ้าพระยา ดูจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง ภาพเมื่อ พ.ศ.2408 ฝีมือ จอห์น ทอมสัน ช่างภาพชาวอังกฤษ

“แม่น้ำเจ้าพระยา มีหรือไม่มีพญานาค? เพราะนักวิชาการบางคนว่าพญานาคมีในแม่น้ำโขง แต่ไม่มีในแม่น้ำเจ้าพระยา ความจริงยังไง” เป็นคำถามจากผู้อ่านจำนวนหนึ่ง

เพราะไม่รู้เหตุผลของนักวิชาการนั้น ผมเลยบอกไปอย่างมึนๆ งงๆ ตามที่เป็นข่าว        ทุกปีมีอย่างนั้นว่า บั้งไฟพญานาค อาจมีเฉพาะแม่น้ำโขง ไม่มีในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ผมไม่เคยไปดูบั้งไฟพญานาคแม่น้ำโขง

พญานาค ไม่มีตัวตนจริง เพราะเป็นสัตว์ในจินตนาการตามความเชื่อ ซึ่งมีทั่วไปในอุษาคเนย์ ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง และแม่น้ำอื่นๆ รวมถึงทะเลสมุทร มีหลักฐานในหนังสืออ่านง่ายๆ  2 เล่ม เกี่ยวกับนาค ได้แก่

  1. น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย ของ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2529
  2. นาค มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2543) พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2554

นางนาค กับ พญานาค

Advertisement

นาค อุษาคเนย์ อยู่ใต้ดิน คือบาดาล เป็นเพศหญิง เรียกนางนาค สัญลักษณ์ของน้ำกับดิน มักแปลงร่างเป็นหญิงสาวงาม

นาค อินเดีย อยู่บนฟ้า เป็นเพศชาย เรียกพญานาค สัญลักษณ์ของน้ำฝนจากฟ้า หรือน้ำกับฟ้า มักแปลงร่างเป็นชายดุร้าย

 

Advertisement

นาค คือ น้ำและดิน

นาค เป็นสัญลักษณ์ของน้ำและดิน มีความสำคัญต่อชุมชนทุกหนทุกแห่งในอุษาคเนย์ ทั้งภาคพื้นทวีป ตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำโขง และทั้งหมู่เกาะ เช่น เกาะนาควารี (ปัจจุบันเรียก นิโคบาร์)

น้ำ และดินฟ้า

น้ำ ในสำนึกของคนอุษาคเนย์ มาจาก ฟ้ากับดิน

น้ำฟ้า คือ น้ำฝน มากับลมมรสุม ส่วน น้ำดิน คือ น้ำบาดาล ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน แล้วเรียกต่างๆ กัน เช่น น้ำซัม, น้ำซับ, น้ำพุ, น้ำผุด ฯลฯ

เรือนาค งานศพยุคต้นอยุธยา

ในงานศพสมัยโบราณต้องมีเรือนาคเป็นเรือสำคัญ เพื่อส่งวิญญาณกลับสู่โลกเดิม คือบาดาลหรือนาคพิภพ เพราะผู้ที่จะพาวิญญาณกลับไปได้อย่างปลอดภัยต้องเป็นนาคเท่านั้น ยังมีประเพณีนี้อยู่ในกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ทุกวันนี้

เรื่องเรือนาคมีร่องรอยและหลักฐานอยู่ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระไชยราชาธิราช (ระหว่าง พ.ศ.2077-2089) ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ลงเรือนาคเผากลางแม่น้ำ

บรรยากาศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ชาวยุโรปพรรณนาไว้ อาจไม่ตรงกับความรับรู้ของคนปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้นต้องอ่านด้วยความระมัดระวัง

(อยู่ในบทแปลเรื่อง “การท่องเที่ยว การเดินทาง และการผจญภัยของเฟอร์ดินันด์  เมนเดซ ปินโต” แปลโดยนางนันทา วรเนติวงศ์ จากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง The Travels, Voyages and Adventures of Ferdinand Mendaz Pinto พิมพ์อยู่ในหนังสือ “รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 3”, กรมศิลปากร 2538)

พระเมรุมาศในงานพระบรมศพ เริ่มมีในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง (ระหว่าง พ.ศ.2172-2199) หลังแผ่นดินพระไชยราชาราว 100 ปี

เกาะนาควารี อยู่กลางทะเลอันดามัน แสดงว่าคนสมัยก่อนในกลุ่มเกาะเหล่านี้มีความเชื่อเรื่องนาคปัจจุบันชาวตะวันตกเรียกเกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2. กรมศิลปากร, 2542)
เกาะนาควารี อยู่กลางทะเลอันดามัน แสดงว่าคนสมัยก่อนในกลุ่มเกาะเหล่านี้มีความเชื่อเรื่องนาค ปัจจุบันชาวตะวันตกเรียกเกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2. กรมศิลปากร, 2542)

ราชรถ มาจากเรือนาค

ต่อมาเมื่อเกิดประเพณีออกพระเมรุมาศ ก็ไม่จำเป็นต้องไปทางเรืออีก เพราะจัดที่ลานสนามหน้าจักรวรรดิ (ด้านตะวันออกของวังหลวงพระนครศรีอยุธยา) หรือที่กรุงเทพฯ เรียกสนามหลวง

แต่พาหนะที่เชิญพระบรมศพหรือพระโกศก็ยังเป็นเรือนาค แม้จะประดิษฐ์เป็นราชรถ แต่ทางหัวและหางก็ยังเป็นลวดลายสัญลักษณ์ของนาคเหมือนเดิม

ยิ่งในกัมพูชา งานออกพระเมรุจะเชิญพระศพด้วยรถที่แต่งเป็นนาคชัดเจน และในท้องถิ่นอีสานทุกวันนี้งานศพพระสงฆ์จะเชิญศพด้วยรถที่แต่งเป็นนาค แม้ตามวัดวาอารามปัจจุบันที่มีเมรุเผาศพจะมีรถเชิญศพแต่งเป็นรูปนาค

 เรืออนันตนาคราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป
เรืออนันตนาคราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป

เรือยาว

เรือยาวที่ใช้แข่งเรือ มีลำเรือยาวคล้ายงู เป็นสัญลักษณ์ของพญานาค

แข่งเรือ เป็นสัญลักษณ์ของงูหรือพญานาค แล่นบนผิวน้ำ เท่ากับกำลังไล่น้ำให้ลด         จะได้ไม่ท่วมข้าวในนาที่เริ่มตั้งท้องออกรวง

 

กรุงศรีอยุธยาฆ่าพญานาค

พระเจ้าอู่ทองมีเรื่องขัดแย้งกับนาค ต้องฆ่านาคก่อนแล้วจึงสร้างเมืองได้

“ก่อนยุคพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยา เคยมีโรคระบาดครั้งใหญ่เกิดจากนาค ผู้คนล้มตายเกือบหมดเมือง” เป็นคำบอกเล่าของชาวเมืองอยุธยา ราว พ.ศ.2176-2185 ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

คำบอกเล่าของชาวเมืองอยุธยาเรื่องนี้มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182 แต่อยู่ในรูปตำนาน, นิทาน, คำบอกเล่า มีสัญลักษณ์โรคระบาดเป็น “น้ำลาย” ของมังกรหรือนาค

เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทอง มีพระนามเดิมว่า “เจ้าอู่” เป็นโอรสจักรพรรดิจีน ถูกเนรเทศทางทะเลเพราะนิสัยไม่ดี ทำความชั่วร้ายแรง สำเภาไปถึงเมืองปัตตานีแล้วย้ายไปอยู่เมืองต่างๆ ที่อยู่ชายทะเล เช่น เมืองนครศรีธรรมราช, เมืองกุยบุรี (ประจวบฯ), เมืองเพชรบุรี, เมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ท้ายที่สุดมาปราบนาค แล้วสร้างกรุงศรีอยุธยา

วัน วลิต เป็นพ่อค้าชาวฮอลันดา เดินทางเข้ามาประจำสำนักงานการค้าอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ.2176-2185 ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามในสมัยนั้น แล้วเรียนรู้ภาษาไทยด้วย

นิทานเรื่องท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทองที่จดไว้ วัน วลิต คงฟังมาจากคำบอกเล่าของขุนนาง ข้าราชการ และพ่อค้าประชาชนชาวพระนครศรีอยุธยาสมัยนั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image