วัฒนา หวั่นองค์กรอิสระถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จนหมดความยุติธรรม

วันนี้ (29 ก.ย.) นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมในขณะนี้ ระบุว่า ผมค่อนข้างเป็นห่วงภาพพจน์ของประเทศโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม เมื่อเห็นข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “ให้นายบุญทรงออกมาจากคุกก่อนจึงค่อยมาลากตนขึ้นศาล” ซึ่งมีลักษณะเป็นการเยาะเย้ยถากถางและสามารถกำหนดผลของคดีอาญาที่นายบุญทรงเป็นจำเลยอยู่ในศาลได้ล่วงหน้า ยิ่งเมื่ออ่านข่าวที่อ้างรายงานการจัดอันดับองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นในเอเซียของ Political and Economic Risk Consultancy Ltd. (PERC) ว่าองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นของไทยเป็นองค์กรที่ถูกใช้ในทางการเมืองมากที่สุด โดยพาดพิงถึง ป.ป.ช. ว่าทำหน้าที่ช่วยเหลือรัฐบาลทหารในการทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมืองและป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้กลับเข้ามาในการเมืองอีก ทำให้นึกถึงภาพนายกยิ่งลักษณ์ที่ถูก ป.ป.ช. ดำเนินคดีถึง 15 คดี ซึ่งรวมคดีที่เกิดจากน้ำท่วมอันเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่น่าจะเป็นคดีได้ ส่วนตัวผมก็ถูกนายกรัฐมนตรีข่มขู่เรื่องคดีที่ ป.ป.ช. และอดีตนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยจำนวนมากถูก ป.ป.ช. ดำเนินคดีเป็นว่าเล่น แม้กระทั่งการเสนอกฎหมายอันเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญยังถูกดำเนินคดีเพื่อนำไปให้ สนช. ที่ คสช. แต่งตั้งทำการถอดถอนห้ามเล่นการเมืองต่อไป เหล่านี้คือหลักฐานที่ตอกย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมไทยขาดความเป็นอิสระและกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

นายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ข่มขู่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลและบุคคลใกล้ตัวนายกรัฐมนตรีอันถือเป็นการปิดกั้นการตรวจสอบ การที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะสั่งการใดๆ ก็ได้ให้มีผลในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และถือว่าคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด เท่ากับนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือศาลและทุกองค์กรที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ยิ่งในเวลานี้อยู่ในระหว่างการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่อาจกำหนดให้กรรมการในองค์กรอิสระทำหน้าที่ต่อไปหรือสิ้นสุดลงตามที่เรียกว่าการเซ็ตซีโร่ นายกรัฐมนตรีจึงสามารถให้คุณและโทษทั้งตัวบุคคลและองค์กรได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่องค์กรอิสระทั้งหลายรวมทั้ง ป.ป.ช. ต่างแข่งกันทำผลงานให้เข้าตานายกรัฐมนตรีเพื่อความอยู่รอดของตัวเองแต่เคราะห์กรรมตกแก่ประชาชน พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการยืนยันถึงการมีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรมและกำลังใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ประชาชนทั่วไปและประชาคมโลกไม่มั่นใจในความเป็นอิสระและเป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม ขัดกับข้อ 10 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีที่มีโทษทางอาญาจากศาลที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ดังนั้น การปราบโกงจึงเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองที่มีขึ้นเพื่อใช้ปราบฝ่ายตรงข้ามโดยใช้องค์กรอิสระและศาลเป็นเครื่องมือแต่ปิดกั้นการตรวจสอบตัวเองและพรรคพวก ตกลงเราจะอยู่กันแบบนี้ใช่มั้ยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image