‘รสนา’กระทุ้งเนติบริกร นำบ้านพักขรก.ตั้งบริษัท ขัดธรรมาภิบาล-นิติธรรมรุนแรง

แฟ้มภาพ

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีต สว.กทม. โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อนคือต้นทางของการคอร์รัปชั่น” ระบุว่า ความแตกต่างระหว่าง Rule by Law กับ Rule of Law

Rule by Law คือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของเผด็จการ เอาไว้บังคับคนอื่น ไม่บังคับกับพวกตัวเอง
Rule of Law คือ หลักนิติธรรมที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ฟังนักกฎหมายระดับเนติบริกรอธิบายเรื่องบ้านพักข้าราชการไปเทียบกับบ้านเช่า ว่าไม่มีข้อห้ามใดๆในการนำไปจดทะเบียนบริษัทแล้ว ทำให้เข้าใจความหมายของ Rule by Law ชัดเจนขึ้น นึกถึงเรื่องจริงของนายแพทย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ ท่านเป็นอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ ครั้งหนึ่งคู่เขยของท่านประมูลได้สัญญาเปิดร้านค้าในคณะแพทยศาสตร์ พอท่านทราบเรื่องก็พูดกับคู่เขยว่า ขอให้ถอนตัวออกไป

คู่เขยตอบว่า ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว และที่ได้สัญญามาก็ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ของคุณหมอที่เป็นคู่เขย อีกทั้งคนทั้งคู่ก็ใช้คนละนามสกุลกันจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน

Advertisement

แต่นายแพทย์ท่านนั้นยืนยันกับคู่เขยว่ายินดีจ่ายเงินที่ลงทุนคืนให้ และกล่าวว่า “ตราบเท่าที่ผมยังอยู่ในคณะนี้ ผมขอไม่ให้คุณมาทำมาค้าขายในคณะนี้”

นี่คือนายแพทย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ใช่นักกฎหมายระดับเซียน แต่เข้าใจชัดเจนว่า สิ่งเรียกว่า Conflict of Interest (COI) อันเป็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม” หรือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” นั้น หมายถึงอะไร โดยไม่ต้องยกตัวบทกฎหมายอะไรมากล่าวอ้างเพื่อรับรองความชอบธรรมให้กับตัวเอง และพวกพ้องของตัวเอง

จำได้ไหม ลุงๆ ยังจำได้ไหม ที่เคยเคร่งครัดออกระเบียบไม่ให้เอาลูกหลานญาติพี่น้องที่มีนามสกุลเดียวกันมาเป็นผู้ปฏิบัติงาน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่ปรึกษาประจำตัวของบรรดา สนช. และ สปช.รวมทั้งในชั้นกรรมาธิการด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และกฎเหล็กนี้ก็ยังนำมาใช้กับ สสส.ที่ห้ามให้ทุนกับองค์กรที่มีบอร์ดของ สสส.นั่งเป็นกรรมการ (ทั้งที่ระเบียบอนุญาตให้ทำได้ แต่ คสช.ไม่ให้ทำ) มีการตรวจสอบไล่บี้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ว่ามีการคอร์รัปชั่นหรือไม่ ถึงขนาดแช่แข็งเงินกองทุนจนหลายองค์กรต้องปิดตัวไป

Advertisement

ในสังคมอารยะที่มีธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้น ย่อมถือว่า COI ดังกล่าว เป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ไม่ใช่แค่ “ความไม่เหมาะสม” ดังที่บรรดาเนติบริกรชอบอ้างกันอย่างข้างๆคูๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image