‘วิษณุ’ชี้ ส.ว.โหวตนายกฯคนนอกได้ หากอึดและทน นายกฯคนนอกอาจอยู่ได้ถึง 8 ปี

“วิษณุ” ชี้ ศาล รธน. ให้ ส.ว.โหวตนายกฯคนนอกได้

เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชาชามติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อความสำคัญอยู่ที่ 2-3 หน้าสุดท้ายเท่านั้น โดยสรุปง่ายๆ ถึงสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งคือ เมื่อไม่สามารถหาชื่อนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมืองได้ ก็ให้สมาชิกรัฐสภา อันหมายถึง ส.ส. ส.ว. เสนอให้ใช้ชื่อนายกฯจากคนนอก ซึ่งการเสนอนี้จะต้องมีเสียงเห็นชอบในการเสนอครึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียง จากนั้นทั้งหมด 700 กว่าคน ก็ต้องมาโหวตกัน ซึ่งการโหวตตรงนี้จะต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 คือ 500 เสียง ซึ่งถึงตรงนี้ก็ยังไม่ได้ชื่อหรือตัวนายกฯ แล้วจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการต่อไป

นายวิษณุกล่าวว่า จากนั้นวันรุ่งขึ้นเมื่อมีการยินยอมให้เสนอชื่อคนนอกแล้ว ก็ต้องมาเริ่มโหวตให้ได้คะแนน 376 เสียง แต่ไม่ได้มีตรงไหนระบุว่า แล้วคนที่จะเสนอชื่อนายกฯนั้น จะต้องเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้ กรธ.อธิบายว่า ก็ไม่มีตรงไหนระบุว่าให้ ส.ว.เป็นคนเสนอชื่อ ดังนั้น จึงต้องกลับมาให้ ส.ส.เป็นคนเสนอแล้ว จึงให้ ส.ว.เป็นคนร่วมโหวต

“อีกประเด็นหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอ่านแล้วเห็นว่าถ้อยคำยังไม่ชัด จึงให้ กรธ.แก้ไขมาให้ชัดเจน เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้มีปัญหาอีกต่อไป ในประเด็นที่ กรธ.เขียนว่า ในวาระเริ่มแรก ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจไปว่า การหานายกฯแบบยุ่งๆ อย่างที่กล่าวมา ให้ใช้เฉพาะตอนเริ่มแรกหลังจากมีรัฐสภา คือ หลังเลือกตั้งแล้วถ้าได้นายกฯมาอยู่ไป 1 ปี นายกฯตายหรือลาออก หรือถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ้นจากตำแหน่ง หรือถูกถอดถอน ซึ่งอยู่ในห้วง 5 ปี แล้วเป็นการหานายกฯหนที่ 2 ก็ถามว่าจะไปหานายกฯแบบที่ยุ่งๆ แบบเก่าหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า เมื่อ กรธ.ใช้คำว่าในวาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มีการได้สมาชิกรัฐสภาจะชวนให้เกิดความเข้าใจไปว่าเฉพาะหนแรกหนเดียว แต่ในเมื่อเจตนารมณ์ของประชามติหมายถึงกี่หนก็ได้ แต่ให้อยู่ใน 5 ปี จึงให้ไปแก้ถ้อยคำให้ชัดเจนเป็นว่ากี่หนก็ได้ใน 5 ปี เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด” นายวิษณุ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลไกดังกล่าวจะทำให้ได้นายกฯคนนอกและอยู่ยาวถึง 8 ปีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ หากอึดและทน รวมถึงเจตนาเป็นอย่างนั้น เพราะนี่คือประชามติก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร อีกทั้งดูน้ำใจ ส.ส.และดูเหตุการณ์ว่าบุคคลนั้นจะได้รับความนิยมถึงขนาดว่า เลือกกี่ครั้งก็ได้กลับเข้ามาอีก ถ้าถึงขนาดนั้นประเทศไทยก็คงต้องยอม

“ต่อไปนี้ประเทศไทยการหานายกฯ เริ่มจากประชุม 2 สภาแล้วเลือกว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ โดยต้องมาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอพรรคละ 3 คน แล้วถ้าได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ โดยดูจากคะแนนว่าใครได้ถึง 376 เสียง คนนั้นก็ได้เป็นนายกฯ ถ้าไม่ได้ถึง 376 เสียง ก็ต้องประชุมกันทุกวัน จนกว่าจะได้ 376 เสียง จนถึงวันหนึ่งถ้าเบื่อแล้วก็แปลว่า จะเอาคนนอกบัญชีก็ต้องให้ ส.ส.หรือ ส.ว.ก็ได้ รวมกันเข้าชื่อให้ได้ 376 คน เสนอขอเอาคนนอก ก็แปลว่าญัตตินี้จะเข้าไปในสภาแล้ว สภาต้องโหวตเพื่อยอมให้เอาคนนอก โดยมีเสียง 501 คน แต่ถ้าได้ไม่ถึง 501 คน ก็แปลว่าไม่มีโอกาสจะเอาคนนอก ดังนั้น ก็ต้องกลับไปตะบี้ตะบันเอาจากพรรคละ 3 รายชื่อ แต่ถ้าได้ถึง 501 คน แปลว่ายอมให้เอาคนนอก พรุ่งนี้ก็มาประชุมกันใหม่ ใครเสนอชื่อนายกฯขึ้นมาแล้วโหวตได้ 376 เสียง คนนั้นก็เป็นนายกฯ แล้วถ้ายังไม่ถึง 376 เสียงอีกก็ทำไปจนกระทั่งได้ 376 เสียง” นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่า ส.ว.จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ได้นายกฯคนนอกง่ายขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ประชามติต้องการให้เป็นตัวแปรตามที่มีคำถามพ่วง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image