‘วิษณุ’ขู่ กลุ่มปลุกระดมคว่ำประชามติผิด พ.ร.บ.คอมฯ

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีการหารือเรื่องข้อเสนอแนะเรื่องรัฐธรรมนูญของแต่ละกระทรวงในที่ประชุม ครม. ว่า ความเห็นดังกล่าวไม่จำเป็นจะต้องนำเสนอเข้า ครม.อีก เพราะจะไม่ทันกำหนดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ที่จะต้องส่งความเห็นกลับ ทั้งนี้ ความเห็นของแต่ละกระทรวงสามารถส่งมาถึงตนได้จนถึง 16.00 น.ในวันเดียวกันนี้ หรือบางกระทรวงอาจจะส่งมาในวันที่ 10 กุภาพันธ์ด้วยซ้ำ ซึ่งตนจะรวบรวมเสนอถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อลงนามได้ทันทีก่อนส่งความเห็นดังกล่าวกลับไปยัง กรธ. อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้มีหมวดปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญนั้นเห็นหลายฝ่ายออกมาขานรับ ซึ่งรัฐบาลจะเสนอในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ คสช.สามารถส่งแยกจากความเห็นของรัฐบาลได้ แต่ไม่ทราบว่า คสช.จะส่งหรือไม่

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนความเห็นของแต่ละกระทรวงที่ได้รวบรวมนั้นไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่สามารถให้ความเห็นไปได้หลายมาตรา บางหมวดที่มีหลายมาตราหลักการใหญ่ๆ เป็นอย่างไรรายละเอียดบางมาตราก็พูดลำบาก ก็อาจจะส่งความเห็นเป็นหมวดๆ ไป ส่วนคำถามประชามติที่จะพ่วงไปกับคำถามรับหรือไม่รับในร่างหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังเปิดโอกาสให้มีคำถามพ่วงได้ก็ต้องปล่อยไปตามนั้น จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ซึ่งคำถามดังกล่าวจะมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คสช.หากจะมีการส่งมา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้หารือกันในที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อประชามติในวันวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เพราะเวทีนี้เป็นเวทีธุรการจึงไม่ข้องกัน

เมื่อถามว่า มีประเด็นใดในร่างรัฐธรรมนูญที่ควรจะปรับแก้ นายวิษณุกล่าวว่า มี แต่บางอย่างอาจไม่ใช่ประเด็นที่มีการวิจารณ์กันอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เป็นเทคนิคถ้อยคำที่อาจมีปัญหายากต่อการที่รัฐบาลต่อไปหรือพรรคใดก็ตามที่จะเข้าใจและบริหารได้ เราจึงจะทักท้วงไปด้วย ส่วนข้อทักท้วงจะหลายฝ่ายที่ระบุว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาอาจจะบริหารงานยากเรื่องนี้ก็มีส่วน ซึ่งรัฐบาลก็จะถาม กรธ.ไปเหมือนกันว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ ถ้าตั้งใจที่จะให้บริหารงานยากเพื่อที่จะให้อยู่ในความสุจริตมันก็อาจจะใช้ได้ แม้ทุจริตก็ยาก หรือทุจริตแล้วมันยากพอมันยากเลยไม่กล้าทำ ทีนี้ล่ะจะเกิดเกียร์ว่าง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ระบุว่าเหตุใด กรธ.ไม่เน้นการตรวจสอบ ตนก็จะเสนอแนะไปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เรื่องทุจริตมันป้องกันสองอย่างคือ 1.การป้องกันก่อนและ 2.ป้องกันทีหลัง ถ้าจะให้ได้ผลที่แล้วๆ มาเราปล่อยให้ทำแล้วมันผิด แล้วเราไปจับผิด ซึ่งมันยากเกินกว่าที่จะเยียวยาแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่ปลามหรือเตรียมไว้ก่อนได้ก็จะดูดีกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเรื่องสิทธิเสรีภาพ องค์กรอิสระแม้จะเรื่องการเลือกตั้ง นั้นก็ต้องให้เขาตอบเอง

เมื่อถามถึงมาตรการกำหนดโทษหากทำผิดประชามติซึ่งมี 3 แนวทาง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติปี 2552 มาปรับปรุงแก้ไข นายวิษณุกล่าวว่า วิธีดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในสามแนวทางนั้น แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกใช้ในเรื่องอื่นเพื่อพิจารณาประกอบความเห็นในการับหรือไม่รับเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องประชามติให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ปรัชญาจึงเอามาใช้ด้วยกันยาก และหากจะเลือกวิธีการออกกฎหมายก็จะออกกฎหมายใหม่มารองรับหากมีการกระทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ก่อนครบกำหนดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะต้องส่งความเห็นให้ กรธ. แม่น้ำทั้ง 5 สาย ต้องหารือกันอีกหรือไม่นั้นคงไม่มี เพราะวันนี้แต่ละสายก็ส่งความเห็นไปบ้างแล้ว สายไหนสายนั้นก็ไหลกันไปเองแล้วกัน

Advertisement

เมื่อถามว่า ล่าสุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.มีความกังวลกรณีมีกลุ่มรณรงค์ต่อต้านทางโซเชียลมีเดียให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องถามนายมีชัยว่าจะให้รัฐบาลทำอย่างไรก็ช่วยบอกมา เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้เมื่อยังไม่มีกฎหมายเอาผิดหากรณรงค์คว่ำร่างจะมีกฎหมายใดมาเอาผิดการกระทำลักษณะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องของการโพสต์สิ่งที่ไม่ถูกต้องก็มีกฎหมายรับรองอยู่ อย่าง พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ประเทศไทยจะอยู่โดยไม่มีกฎหมายในสิ่งเหล่านี้คงไม่ได้ อย่าว่าแต่บิดเบือนเรื่องนี้เลย บิดเบือนข่าวดาราหรืออะไรก็ตามก็มีการฟ้องร้องได้

เมื่อถามถึงกรณีที่กองทัพให้นักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ออกไปทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญหน้าหน่วยเลือกตั้งจะทำให้การทำประชามติไม่สะท้อนความเป็นจริงหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “คุณแน่ใจหรือไม่ว่าเขาจะทำแบบนั้น เห็นพล.อ.ธีรชัยออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ไปไกลอย่างที่พูด ซึ่งผมไม่ทราบรายะละเอียด ถ้ามาจากทหารก็ช่วยไปถามทหารผมไม่รู้จริงๆ ว่าเขาให้ทำอะไร ส่วนการทำความเข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมนูญก็เป็นหน้าที่ของคนทั้งประเทศอยู่แล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่จะต้องโหวตเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วไม่มีกระบวนสร้างความเข้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image