ราชการลับภายใต้กองทัพ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อการต่อต้านสงครามเวียดนามขยายไปทั่วสหรัฐแล้ว สายลับของเอฟบีไอจะปลอมตัวไปเที่ยวคุ้ยขยะของแกนนำการประท้วง หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องนี้สร้างความรู้สึกแปร่งๆ แก่คนอเมริกันสมัยนั้น ในด้านหนึ่งก็รู้สึกสมเพช เพราะไม่คิดว่าข้อมูลจากขยะไม่น่าจะบอกอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติ แต่อีกด้านหนึ่งก็ตระหนกที่ความมั่นคงแห่งชาติได้บุกทะลวงลึกเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของพลเมือง จนกระทั่งไม่เหลือพื้นที่ส่วนตัวไว้แก่ใครในรัฐที่ความมั่นคงแข็งปั๋งอีกแล้ว เพราะขยะของแต่ละบ้านเรือนนั้น บอกอะไรเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ รายได้ รสนิยม หรือแม้แต่ความเพ้อฝันส่วนตัวซึ่งไม่เคยเป็นจริงในชีวิตเลย หากวิเคราะห์เป็น

อันที่จริงนักโบราณคดีรู้มานานแล้วว่า ขยะเป็นแหล่งข้อมูลที่บอกอะไรมากทีเดียว เขาศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์กันโดยผ่านหลุมขยะ ทำให้รู้ว่าชุมชนแห่งนั้นกินอะไรเป็นอาหารหลัก ทำการเกษตรหรือยัง สัดส่วนของอาหารที่ได้จากการเก็บของป่าและล่าสัตว์ยังเหลืออยู่สักเท่าไร เขาเลี้ยงลูกอ่อนกันอย่างไร ครอบครัวของชุมชนแห่งนั้น เป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวเดี่ยว ชุมชนนั้นมีความสัมพันธ์กับใครที่ไหนบ้าง ฯลฯ จะแตกต่างจากสายลับของเอฟบีไอก็ตรงที่ นักโบราณคดีสนใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ในขณะที่สายลับสนใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคล เพราะกฎหมายอาญาสมัยใหม่ถือว่าบุคคลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ชุมชนไม่เกี่ยว

ผมค่อนข้างแน่ใจว่า หน่วยสืบราชการลับที่ริเริ่มใช้วิธีทางโบราณคดีในการรวบรวมข้อมูลนั้นไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่เพราะทหารไม่ค่อยฉลาดนะครับ แต่เพราะข่าวกรองที่กองทัพต้องการนั้นแคบมาก คือข้อมูลที่อาจใช้ประโยชน์ในการรบได้เท่านั้น แต่ความขัดแย้งของโลกปัจจุบันมันขยายไปอยู่นอกสนามรบเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การแก้ไขความขัดแย้ง จึงมักไม่ได้อยู่ที่สงครามอีกแล้ว แท้จริงแล้ว การรบหรือการใช้กำลังทหารต่อกัน เป็นเพียงส่วนเดียวของความขัดแย้งและแก้ไขความขัดแย้ง ซ้ำไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดเสียด้วย เช่นรบหรือขู่จะรบเพื่อทำให้การเจรจาบนโต๊ะราบรื่นขึ้น

ประเทศใดที่รู้จักแต่ความขัดแย้งและการแก้ไขความขัดแย้งด้วยกำลังทหารเท่านั้น หนึ่งมักจะรบแพ้ เพราะรบไม่เป็น เนื่องจากไม่เข้าใจว่าการรบเป็นเพียงส่วนย่อยๆ ส่วนเดียว และสองเผชิญความขัดแย้งไม่เป็น มักนำประเทศสู่ภาวะวิกฤตอยู่เสมอ จึงเดินหน้าไปไหนเกินกว่ารายการโทรทัศน์ไม่ได้

Advertisement

ด้วยเหตุดังนั้นหน่วยข่าวกรองระดับชาติของมหาอำนาจทั้งหลายในโลกนี้ จึงไม่ใช่หน่วยงานทหาร อาจมีทหารนอกราชการเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย เนื่องจากความสามารถพิเศษทางทหารบางอย่างซึ่งหน่วยสืบราชการลับจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่ใช่ความสามารถอย่างเดียวของหน่วยงาน เพราะดังที่กล่าวแล้วว่าหน่วยสืบราชการลับในปัจจุบัน รวบรวมข้อมูลหลากหลายประเภท เพื่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำ และในเรื่องที่สลับซับซ้อนละเอียดอ่อนยิ่งกว่าการรบ จึงต้องการผู้เก็บรวบรวมข้อมูลหลากหลายความสามารถ แม้แต่การวิเคราะห์ขยะอย่างนักโบราณคดีก็มีประโยชน์

ที่สำคัญยิ่งกว่าการปฏิบัติงานก็คือ การกำหนดว่าข้อมูลประเภทใดหรือกลุ่มใดจึงมีประโยชน์แก่การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งซับซ้อนกว่าการทำสงคราม คนที่จะกำหนดทิศทางตรงนี้ของหน่วยข่าวกรองในประเทศมหาอำนาจทั่วโลกไม่ใช่ทหาร อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทหารประจำการ แต่เป็นนักการเมือง เพราะความมั่นคงแห่งชาติเป็นภารกิจอย่างหนึ่งในการบริหารบ้านเมือง ไม่ต่างจากการสาธารณสุข การจราจร ค่าเงิน และการลงทุนทางอุตสาหกรรม ฯลฯ จึงต้องอยู่ในมือของนักการเมือง ไม่ปล่อยให้ตกอยู่ในอาณาบริเวณอิสระของ ?ผู้เชี่ยวชาญ? ไม่ว่าจะเป็น ?ผู้เชี่ยวชาญ? ด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการรบ

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะนักการเมืองเก่งกว่านักวิชาการอาวุโสของทีดีอาร์ไอ หรือนายพลนะครับ แต่เพราะนักการเมืองต้องรับผิดชอบทางการเมือง ภายใต้กลไกของระบอบปกครอง ในขณะที่นักวิจัยอาวุโสและนายพลได้แต่พูดไปเรื่อย โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย

Advertisement

แม้ว่า หน่วยสืบราชการลับของมหาอำนาจทั่วโลกในปัจจุบัน อาจมีกำเนิดมาจากกองทัพและสงคราม (CIA มาจากการสืบราชการลับและปฏิบัติการลับในสงครามแปซิฟิก, MI5 เป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามในยุโรปของอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่พัฒนาการในขั้นต่อมาหลังสงคราม คือหน่วยงานเหล่านี้แยกออกจากกองทัพ และอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของนักการเมืองพลเรือนอย่างเต็มที่ เช่นประธานาธิบดีสหรัฐเป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการ CIA และอยู่ในการกำกับควบคุมอย่างเด็ดขาดของประธานาธิบดี หลังเหตุการณ์ 9/11 มีการออกกฎหมายใหม่ตั้งหน่วยงานที่เรียกว่าองค์การความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้ประธานาธิบดี และกำกับดูแลทั้ง CIA และ FBI (ซึ่งเคยอยู่ใต้กระทรวงยุติธรรมหรืออัยการสูงสุด อันเป็นตำแหน่งการเมืองมาก่อน) ส่วน MI5 นั้นเป็นหน่วยงานใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ส่วน FSB ของรัสเซียซึ่งแปลงมาจาก KGB ในสมัยโซเวียต ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดี ซึ่งในปัจจุบันได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ในสมัยโซเวียตจากการเลือกตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์

ไม่มีที่ไหนหรอกครับ ที่จะเป็นหน่วยงานของกองทัพ หรือถึงอยู่นอกกองทัพ แต่ทหารคุม อย่างในเมืองไทยซึ่งลอกรูปแบบของมหาอำนาจมา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพ แม้แต่ในสมัยที่รัฐบาลเป็นพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และอาจตั้งเลขาฯ ของ สมช.ได้เอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฉายาของกองทัพยังทะมึนอยู่เหนือการปฏิบัติงานของการสืบราชการลับในเมืองไทยเสมอมา

ผมขอยกตัวอย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้วในเมืองไทยว่า การสืบราชการลับและเชื่อมโยงกับปฏิบัติการทั้งลับและแจ้งของรัฐสมัยใหม่ แต่กลับปล่อยให้อยู่ในมือทหาร จะนำไปสู่ความคับแคบในการสืบราชการลับและปฏิบัติการอย่างไร และหากมองในระยะยาวแล้ว ย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของรัฐและประชาชนอย่างไร

นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจและสถาปนาระบอบปกครอง คสช.เป็นต้นมา ความคับแคบของการสืบราชการลับและปฏิบัติการ ก็ยิ่งเห็นได้ชัด ความมั่นคงปลอดภัยของชาติถูกนำไปปะปนสับสนกับความมั่นคงปลอดภัยของ คสช.เอง ข่าวกรองที่ค่อนข้างสุ่มสี่สุ่มห้านำไปสู่การจับกุมคุมขังของผู้คนจำนวนมาก (อย่างน้อยก็เพื่อความปลอดภัยในอาชีพการงานของเจ้าหน้าที่เอง) หากดูเรื่องนี้จากการหาข่าว และปฏิบัติการหลังข่าวถูก ?กรอง? แล้ว ก็ต้องถือว่านอกจากคับแคบแล้วยังทำอย่างไม่ ?มืออาชีพ? เอาเสียเลย ในด้านข่าวก็ ?กรอง? ผิดๆ ถูกๆ เสมอมา ในด้านปฏิบัติการ ก็ดูจะไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากจับกุมหรือข่มขู่ วิธีการแบบ ?มืออาชีพ? นั้น กว่าจะ ?กรอง? ข่าวจนแน่ใจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญมากกว่านี้มากนัก ได้ข่าวแล้วก็ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบว่า ควรปฏิบัติการแบบไหนจึงจะได้ผลดีที่สุด บางครั้งการปฏิบัติการแบบแสร้งโง่กลับให้ประโยชน์กว่าด้วยซ้ำ เพราะเป็นช่องให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

เพราะควบคุมงานด้านราชการลับตลอดมา ทำให้กองทัพก้าวล่วงเข้ามากำหนดนโยบายการเมืองด้วย โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ รัฐบาลชาติชายถูกทหารต่อต้านมาก ก็เพราะเข้ามาจัดวางนโยบายการเมืองในกิจการต่างประเทศเอง ทหารถือว่ากิจการต่างประเทศเป็นพื้นที่ผูกขาดของกองทัพตลอดมา การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้ากับเพื่อนบ้านจึงเท่ากับดึงพรมออกจากตีนของกองทัพอย่างฉับพลัน

แต่สมรรถภาพในการสืบราชการลับในประเทศเพื่อนบ้านของกองทัพนั้นน่าสังเวช คือตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทันเอาเลย ดังจะเห็นได้ถึงการปรับนโยบายของกองทัพพม่า โดยเฉพาะภายใต้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ในบัดนี้เห็นได้ชัดแล้วว่า กองทัพพม่าตั้งใจจะปรับนโยบายทางการเมืองทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเปิดให้มีการถ่วงดุลอำนาจมากขึ้นมาแต่ต้น

สัญญาณนี้ทั้งยุโรปและสหรัฐ (หรือแม้แต่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์) อาจจะอ่านได้ออกมานานแล้ว แต่ไทยอ่านไม่ออกตลอดมา จนเมื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งและรัฐบาลเอ็นแอลดีเข้ามาแล้ว พรมใต้ตีนของทหารไทยก็ถูกกระชากออกมาเหมือนกัน เพราะไม่มีสมรรถภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลได้จริง

จนไทยอาจเป็นประเทศที่ปรับตัวได้ช้าที่สุดต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายของกองทัพพม่า

กรณีสามจังหวัดภาคใต้เป็นกรณีที่เห็นได้ชัดถึงความล้มเหลวด้านการข่าว (และปฏิบัติการหลังการข่าว) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของทหาร ความล้มเหลวนั้นปรากฏทั้งในด้านปริมาณ และความลึกของข้อมูลที่ผ่านการกรองแล้ว ไม่สู้จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเท่าไรนัก ไม่ต้องพูดถึงว่าต้องถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่ฝ่ายตรงข้าม อีกด้านหนึ่ง คือความล้มเหลวในการทำให้ข่าวกรองกลายเป็นฐานความรู้ที่สามารถเผยแพร่และสืบทอดแก่ผู้ปฏิบัติงานได้ ทหารหรือผู้ปฏิบัติงานสายอื่น ซึ่งถูกย้ายเข้าไปใหม่ จะสามารถเรียนรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นต้น

การนำเอาการสืบราชการลับมาอยู่ในกำกับควบคุมของนักการเมืองพลเรือน ไม่เป็นหลักประกันว่าการสืบราชการลับ และปฏิบัติการจะไม่เป็นภัยคุกคามแก่ประชาชน เพราะนักการเมืองก็อาจนำเอาเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัว ดังกรณีวอเตอร์เกท หรือการละเมิดในการต่อต้านสงครามเวียดนามหลายกรณี เป็นต้น แต่โดยทั่วไปแล้ว ภายใต้กำกับควบคุมของนักการเมืองพลเรือน กิจการด้านข่าวกรองจะดีขึ้นในสองด้าน

หนึ่งคือมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมองปัญหากว้างกว่าการทำสงคราม และปฏิบัติงานโดยคนที่ถูกฝึกให้มองกว้างกว่าการรบ ไม่ว่าในการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ การเลือกปฏิบัติการ และการกำหนดนโยบาย แม้กระนั้นก็ไม่มีอะไรเป็น 100% ในโลกนี้ ดังกรณีถล่มตึกครั้ง 9/11 หน่วยข่าวกรองสหรัฐได้ข่าวที่เป็นเบาะแสมาก่อนแล้ว แต่ประเมินผิด คือไม่นึกว่าข่าวที่ตนได้รับนั้นมีความหมายมากกว่าที่มองได้อย่างผิวเผิน อันที่จริงการก่อการร้ายปัจจุบันเป็นสถานการณ์ใหม่ที่หน่วยสืบราชการลับยากจะใช้ความรู้เก่าให้เป็นประโยชน์ได้ ต้องปรับตัวหาความหมายใหม่ของข่าวกรองต่างๆ ที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายทั้งหมด

ถ้าคิดว่า เราต้องเผชิญการก่อการร้ายภายใต้หน่วยข่าวกรองที่ปรับตัวได้ช้าของกองทัพ ก็จะยิ่งเห็นภยันตรายต่อบ้านเมืองและชีวิตทรัพย์สินประชาชนยิ่งขึ้น

สอง ภายใต้การกำกับควบคุมของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ หรือทำงานไร้ประสิทธิภาพ อย่างน้อยก็มีนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบ เช่นไม่ได้รับเลือกตั้งในครั้งต่อไป แต่ภายใต้ทหารจะไม่มีใครรับผิดชอบเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image