เจรจาญี่ปุ่นฉลุย “พิเชฐ” เผย 250 บริษัทยุ่นสนลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหาร

“พิเชฐ” ลุยพบ รัฐบาล ธนาคาร และ 250 บริษัทชั้นนำญี่ปุ่น ชักชวนลงทุนเมืองนวัตกรรมอาหาร ทุกฝ่ายขานรับความร่วมมือ ชี้ เงื่อนไขดี มีอนาคต ปลดล็อคการขึ้นทะเบียน พร้อมชู 3 โครงการ ฟู๊ดอินโนโพลิส ดิจิทัลอีโคโนมี สตาร์ทอัพ กระชับสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่นครบ 130 ปี

ในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2559 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ ได้เข้าพบและหารือกับรัฐบาล เอกชน นักธุรกิจ นักลงทุน ของญี่ปุ่น ตลอดจนเข้าร่วมประชุมวิชาการทางนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางครั้งนี้ ดร.พิเชฐ ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สำนักงาน คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาส ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เข้าร่วมสัมมนา “นวัตกรรมอาหารในประเทศไทย” ซึ่งทางองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทรฃ จัดขึ้น โดยเชิญนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการ จาก 250 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเข้าร่วมรับฟัง ทั้งนี้ ผู้แทนของไทยได้ผลัดกันให้ข้อมูลถึงความพร้อมทางด้านบุคลากรวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องอาหาร กระบวนการผลิตและการแปรรูปวัตถุดิบด้านการเกษตร และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในการทำวิจัยและพัฒนา ในประเทศไทย รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประตูเชื่อมสู่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) รวมถึง 10 ประเทศอาเซียน สร้างความสนใจให้กับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและคณะ ยังได้เดินทางเข้าพบนาย เตสุเกะ คิตายามา ประธานกรรมการบริหารของธนาคาร เอสเอ็มบีซี ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือในโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของไทย โดย ดร.พิเชฐ กล่าวว่า บรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยดี ทางผู้บริหารของธนาคารเอสเอ็มบีซี สนใจโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของไทย และได้วิเคราะห์ความต้องการของบริษัทอาหารชั้นนำของญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารในการมาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเมืองนวัตกรรมอาหารให้เราฟัง ซึ่งตนและคณะได้ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการทั้งในด้านนโยบายและด้านโลจิสติกส์รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างที่จะได้รับ ทั้งนี้ไม่เฉพาะธนาคารเอสเอ็มบีซีเท่านั้นที่สนใจโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารของเรา แต่ยังมีอีกหลายธนาคารที่ติดต่อสอบถาม เนื่องจากระบบและเงื่อนไขในการลงทุนตลอดจนระบบการขึ้นทะเบียนของประเทศไทยมีความยืดหยุ่นมากกว่า

Advertisement

image

นอกจากนี้ยังได้เข้าพบและหารือกับ นายโยซูเกะ ซูรูโฮะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เพื่อพูดคุยและกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ทีมีมาอย่างยาวนาน และจะครบ 130 ปี ในปีหน้า โดยได้มีการแลกเปลี่ยนกันถึงการวิจัยและพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค เช่น ความปลอดภัยทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศ และการสาธารณสุข เป็นต้น

“ผมได้เสนอให้ประเทศไทยและญี่ปุ่นได้พัฒนาความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาในสามด้านหลัก อันได้แก่ โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร สตาร์ทอัพ และดิจิทัลอีโคโนมี รวมถึงความร่วมมือแบบพันธมิตร ในการพัฒนากำลังคน ทั้งในระดับช่างเทคนิค และวิศวกร เพื่อรองรับการขยายตัว และการพัฒนาเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของบริษัทญี่ปุ่นในไทย โดยที่ประเทศไทยพร้อมเป็นประตูหลักสู่อาเซียนสำหรับประเทศญี่ปุ่น” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ยังได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งมหานครโตเกียว รวมทั้ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมชั้นสูงแห่งชาติ หรือ เอไอเอสที โดยได้ชี้แจงนโยบายหลักของรัฐบาลไทยในการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการสนับสนุน 2 โครงการหลักคือ สตาร์ทอัพและเมืองนวัตกรรมอาหาร ที่จะเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย ซึ่งทาง เอไอเอสทีให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และได้มีการพูดคุยกันในรายละเอียดแบบรูปธรรมถึงกลไกความร่วมมือที่จะสามารถทำได้ระหว่างประเทศไทยและเอไอเอสที โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบว่าจะกลับไปทำการบ้านร่วมกัน และกลับมาหารือกันอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image