‘ธนินท์’เผยกลยุทธ์ลงทุนต่างประเทศยึดหลัก3ประโยชน์

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สำนักข่าวนิกเคอิ ประเทศญี่ปุ่น งานสัมมนา The Nikkei Asia 300 Global Business Forum ภายใต้หัวข้อ “Asia to the World – A New Era of Global Competition” ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ในงานมีผู้บริหารจากบริษัทในไทย อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมงานสัมมนา พร้อมทั้งผู้บริหารจากประเทศอาเซียน จีน และอินเดียเข้าร่วมด้วย

นายธนินท์กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้กำลังฟื้นตัวและจะมีการฟื้นตัวเร็วที่สุด เพราะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และกฎหมายมีความคล่องตัวปรับเปลี่ยนได้เร็ว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสามารถขึ้นเป็นผู้นำของโลกได้ รองลงมา คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมามากมาย ทั้งไบโอเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาหุ่นยนต์ และยังมีการออกไปลงทุนยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถือว่ามีโอกาสและได้เปรียบ ซึ่งญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นมาเทียบเท่ากับสหรัฐได้ แต่จะต้องมีการปรับตัว คือ การลดความระมัดระวังในการทำธุรกิจ หรือให้การทำธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น ต้องกล้าที่จะเผชิญกับความเสี่ยงในระดับที่ไม่ทำให้บริษัทมีปัญหา ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีความระมัดระวังมาก จึงทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ช้า หากมีการปรับตัวเชื่อว่าญี่ปุ่นจะสามารถขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจได้ อันดับ 3 คือ เศรษฐกิจจีน มองว่าจีนเป็นประเทศที่มีโอกาสและเศรษฐกิจกำลังขยายตัว หากเปรียบเทียบกับอายุของคนเราแล้ว เศรษฐกิจจีนถือว่าเป็นคนหนุ่ม ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองของจีนนิ่ง ไม่มีปัญหาที่ต้องกังวล ส่วนกรณีหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ ไม่มีหนี้ต่างประเทศ จึงไม่ต้องกังวลมากนัก ทั้งนี้ภาครัฐของจีนสนับสนุนเงินกู้ให้กับภาคเอกชนเพิ่มขึ้น หรือให้มีธนาคารเอกชนมากขึ้น ศักยภาพการขยายตัวของจีนจะมากกว่านี้ โดยปัจจุบันเงินกู้ส่วนใหญ่ของเอกชนจีนมาจากเงินกู้นอกระบบ

นายธนินท์กล่าวว่า สำหรับการลงทุนของซีพี มีนโยบายไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยยึดหลัก 3 ประโยชน์คือ ประเทศที่เข้าไปลงทุนต้องได้ประโยชน์, ประเทศไทยได้ประโยชน์ และบริษัทได้ประโยชน์ด้วย โดยซีพีไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปแข่งขันกับเกษตรกรในประเทศเหล่านั้น แต่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีรวมทั้งเงินทุนเข้าไปลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจ และซีพีจะเข้าไปเติมเต็มในสิ่งที่เกษตรกรไม่ได้ เช่น การแปรรูปสินค้า ทำการตลาด รวมถึงการค้าไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ นอกเหนือจากประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยธุรกิจของซีพีเป็นห่วงโซ่จากภาคเกษตรถึงโต๊ะอาหาร ซึ่งในแต่ละขั้นตอนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ ถ้ามีมนุษย์อยู่ก็จำเป็นต้องมีอาหาร แต่ในอนาคตรูปแบบของอาหารจะเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาซีพีได้มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกเพื่อคิดค้นนวัตกรรมอาหารเพื่อตอบสนองผู้บริโภค

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image