‘คนตายมีชื่อ’ ตามหาข้อมูลที่หายไปใน ‘6 ตุลา 19’ พวงทอง ภวัครพันธุ์-ภัทรภร ภู่ทอง

ภาพคนถือเก้าอี้ฟาดศพที่ถูกผูกคอ โดยมีผู้คนมุงดูพร้อมรอยยิ้ม ถ่ายโดย นีล อูเลวิช ช่างภาพ AP เป็นภาพที่คนจดจำได้จากเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519”

ยังมีอีกหลายภาพที่เผยความรุนแรงอย่างเหี้ยมโหดที่สุดครั้งหนึ่งที่คนไทยจะทำต่อกันได้

เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่สังคมควรทบทวนและจดจำไม่ให้กลับไปย่ำซ้ำอีก

ในความเป็นจริงเรื่องนี้กลับมีพื้นที่น้อยนิดในแบบเรียนประวัติศาสตร์ เป็นข้อความไม่กี่บรรทัดต่อท้ายจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

Advertisement

ผู้ใช้ความรุนแรงไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ซ้ำยังต้องเก็บตัวอยู่ในความเงียบด้วยความหวาดกลัวอันตราย

40 ปีมาแล้ว ความเงียบนี้ยังไม่ถูกทำลาย ซ้ำยังแผ่ขยายปกคลุมเสรีภาพในการแสดงออกของคนไทย

จำนวนผู้เสียชีวิตตามเอกสารระบุว่ามีจำนวน 41 คน มีระบุเพศไม่ได้ 4 คน เป็นศพชายไทยไม่ทราบชื่อ 6 คน ข้อมูลของภาครัฐหยุดอยู่เพียงเท่านี้ ไม่มีการค้นหาว่าผู้ตายที่ไม่ทราบชื่อนั้นคือใคร

ผ่านมา 40 ปี ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า คนที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามหน้า ม.ธรรมศาสตร์ มี 1 คน, 2 คน หรือ 3-4-5 คน

ล่าสุด ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยและผู้สร้างหนังเปิดเผยในงานเสวนาหนึ่งว่า ระหว่างการหาข้อมูลร่วมกับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และคณะทำงาน ได้รวบรวมข้อมูลภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ พบว่า คนที่ถูกแขวนคอน่าจะมีอย่างน้อย 5 คน โดยแยกจากทรงผม เสื้อผ้า และสภาพแวดล้อม

เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อการทำภาพยนตร์ 1.โครงการภาพยนตร์สารคดี ด้วยความนับถือ Respectfully Yours โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, ภัทรภร ภู่ทอง, ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ และ รุ่งโรจน์ โรจนะโชติกุล ซึ่งฉายในวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

2.ภาพยนตร์สารคดี ตามหาคนในภาพถ่าย โดย ภัทรภร ภู่ทอง และ เดวิด ทัคเกอร์ นักสร้างภาพยนตร์ชาวออสเตรเลีย อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและตามหาคนในภาพ

รายละเอียดเล็กน้อยที่พบ ประกอบให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยในปีหน้าจะมีการทำงาน แหล่งข้อมูล 6 ตุลา รวบรวมข้อมูลรายบุคคลของผู้เสียชีวิต เพื่อให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิต

ที่มาของการค้นหาข้อมูลและการทำภาพยนตร์?

พวงทอง – มีโครงการทำหนัง 2 เรื่อง 1.ด้วยความนับถือ Respectfully Yours หนังสำหรับ 40 ปี 6 ตุลา สัมภาษณ์ญาติและเพื่อนสนิทของผู้เสียชีวิต เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่เสียชีวิต การรำลึก 6 ตุลา ที่ผ่านมาเรารู้เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตน้อยมาก รูปผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คนมักจะเอามาปนกับเหตุการณ์ 14 ตุลา รู้สึกประหลาด เรารำลึกเกี่ยวกับคนตาย แต่ไม่รู้จักเขา จึงทำหนังออกมา

ภัทรภร – อีกโครงการหนึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เราทำกับเพื่อนคนออสเตรเลีย เราทำหนังเรื่องแรก “ความทรงจำไร้เสียง” แล้วอยากทำสารคดีเรื่อง 6 ตุลาต่อ อ.ธงชัย วินิจจะกูล จึงแนะนำให้รู้จักเดวิด เพราะเขาสนใจภาพถ่าย AP ของนีล อูเลวิช ที่มีคนใช้เก้าอี้ฟาดศพที่ถูกแขวนคอบนต้นมะขาม เราจึงทำงานร่วมกัน อยากตามหาคนในภาพถ่าย ทั้งคนที่เอาเก้าอี้ฟาดและคนดูที่อยู่รายรอบ อยากฟังความทรงจำของคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์วันนั้น

ที่ผ่านมาก็มีคนศึกษาเรื่อง 6 ตุลาไว้มาก?

พวงทอง – แต่ไม่มีไอเดียตามหาคนในรูปภาพ รวมถึงการพยายามติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตมากพอ เราจะเห็นคลิป 6 ตุลาในยูทูบเยอะ แต่คนไม่ดูรายละเอียด โดยเฉพาะคนรุ่น 6 ตุลา ซึ่งส่วนใหญ่เขาทนดูไม่ได้ เพราะเขาผ่านเหตุการณ์มา แต่การไม่ดูทำให้คุณไม่เห็นข้อมูลพื้นฐานบางอย่าง
พอเราดูแล้วพบว่ามีข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้มานานแล้ว มีคลิปหนึ่งชัดเจนว่าคนที่ถูกแขวนคอมี 3 คนที่ต่างกัน พอดูรูปเพิ่ม พบว่ามีคนถูกแขวนคออย่างน้อย 5 คนที่เราหาเจอ

ภัทรภร – ข้อมูลพวกนี้ไม่ใช่ข้อมูลที่หายาก ดูในคลิป หนังสือพิมพ์เก่า หรือในยูทูบได้ เราตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าทำไมก่อนหน้านี้เราไม่สนใจ

พวงทอง – 40 ปีที่ผ่านมามีการใช้รูปผิดฝาผิดตัวอยู่เสมอ เช่น เวลาใครเขียนรำลึกถึงคุณวิชิตชัย อมรกุล อดีตนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2 ก็จะไปเอารูปของนีล อูเลวิช มาใช้ ซึ่งไม่ใช่ 2 คนในรูปของนีลที่ถูกแขวนคอนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร คุณวิชิตชัยอยู่ในอีกรูปหนึ่ง ยืนยันว่าไม่ใช่คนที่อยู่ใน 2 รูปของอูเลวิช

สำหรับเราถ้าคุณจะให้เกียรติคนตาย คุณต้องเข้าใจมากที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ต้องไม่เอารูปผิดฝาผิดตัวมาใช้แล้ว ต้องไม่เล่าเรื่องที่เกิดจากการผสมปนเปจากการฟังต่อๆ กันมา

การมีคนถูกแขวนคอ 1 หรือ 5 คน แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

พวงทอง – ถ้าเราเชื่อว่าคนที่ถูกแขวนคอมีแค่คนเดียว คนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงก็มีแค่คนกลุ่มหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดคนดูไม่ได้ลงมือ แต่หลักฐานที่เรานำมาแสดง คนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในวันนั้นมี 6 กลุ่มหลักๆ 5 คนที่ถูกแขวนคอยังมีคนที่ถูกเผาอีกอย่างน้อย 4 ราย คนเป็นร้อยเกี่ยวข้องกับมหกรรมความรุนแรงนี้

ข้อมูลที่ภาครัฐบันทึกไว้มีละเอียดแค่ไหน?

ภัทรภร – ข้อมูลที่รัฐทำละเอียดสุดคือไฟล์ชันสูตรพลิกศพ ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ต้องนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่ในที่สุดการฟ้องร้องหรือดำเนินคดีทางกฎหมายสิ้นสุด ไปไม่ถึงไหน

พวงทอง – 2 ปีหลังจากเหตุการณ์มีการนิรโทษกรรม ส่วนไฟล์ชันสูตรพลิกศพ หลายคนไม่มีชื่อ แต่ตอนหลัง อ.ธงชัยมาตรวจพบว่าใครชื่ออะไรบ้าง เช่นกรณีจารุพงษ์ ทองสินธุ์ อย่างที่ศิริราชเท่าที่ทราบทางโรงพยาบาลเก็บที่อยู่ของญาติที่มารับศพด้วย แต่เราเข้าไปใช้ไม่ได้เพราะไม่ใช่ญาติ กรณีคุณปรีชา แซ่เฮีย ชายอายุ 30 ซึ่งไม่ใช่นักศึกษา เขาถูกดึงออกมาจากรถ ถูกทำร้ายลากไปตามพื้นถนนและแขวนคอ เราไม่รู้ว่าเขาเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์ได้อย่างไร ทำไมถูกทำร้ายและแขวนคอ ถ้าเราสามารถหาที่อยู่ของญาติได้ เราอยากติดตามเพื่อรู้ว่าเขาเป็นใคร

โปรเจ็กต์ตามหาคนในภาพถ่าย สามารถเข้าถึงตัวผู้กระทำได้ไหม?

ภัทรภร – เพิ่งคุยได้ 2 ราย คนที่อ้างว่าเป็นกระทิงแดงตอนนั้นเขาอายุแค่ 16-17 และคนที่ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ ทั้งสองคนขอให้ไม่เปิดเผยตัว แต่เขาให้ข้อมูล เช่นคนที่อยู่ในเหตุการณ์เขาจะระบุได้ว่าต้นไม้ต้นไหนที่ใช้ในการแขวนคอ

พวงทอง – เรื่องเล่าเกี่ยวกับ 6 ตุลาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเล่าจากนักศึกษาที่ถูกกระทำอยู่ในธรรมศาสตร์ ความรุนแรงต่อคนตายระหว่างตัวต่อตัวจะเกิดขึ้นข้างนอก โดยมวลชนฝ่ายขวา ยากที่จะให้คนเหล่านี้เผยตัวมาเล่า ถ้าเขายังไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด มาถึงวันนี้การที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่านี่เป็นความรุนแรงในลักษณะที่อัปลักษณ์มากๆ ก็ไม่มีใครอยากบอกหรอกว่าตัวเองมีส่วนร่วม แต่ก็มีคนดูหรือนักข่าวในรุ่นนั้นที่รู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ แต่ไม่อยากพูด เพราะรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

DSC_3012
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ และ ภัทรภร ภู่ทอง

ฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรงที่หลีกเลี่ยงการแสดงตัว สะท้อนถึงความรู้สึกผิดได้ไหม?

พวงทอง – บอกไม่ได้จนกว่าเขาจะพูดเอง งานของ อ.ธงชัย ที่เขียนเรื่อง 6 ตุลา หลายคนบอกว่า ตัวเองมีส่วนร่วมในขบวนการต่อต้านฝ่ายซ้าย เขาพูดด้วยความรู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่าเป็นการกระทำเพื่อชาติ แต่เขาแยกตัวเองออกมาจาก 6 ตุลา เพราะรู้ว่าเป็นการกระทำที่น่าเกลียด เราบอกไม่ได้ว่าเขารู้สึกผิดหรือเปล่าตราบใดที่เขาไม่พูด เราพูดแทนเขาไม่ได้ เขาอาจจะไม่รู้สึกก็ได้ อาจเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีวันที่ 6 ตุลา เพื่อให้กระบวนการปราบคอมมิวนิสต์ในเมืองสำเร็จลุล่วง

มีความหวังไหมว่าผู้กระทำจะออกมาพูดด้วยตัวเอง?

ภัทรภร – เราไม่แน่ใจสำหรับคนที่มีสถานภาพทางสังคม ถ้าคุณพูดถึงความรู้สึกผิด หมายความว่าคุณกำลังยอมรับว่าคุณกระทำผิด ตามมาด้วยความรับผิดชอบ สังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมที่สอนให้คนแสดงความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง แต่คนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าร่วมกลุ่มกระทิงแดงหรือกลุ่มอื่นๆ เราคิดว่าเขามีเรื่องที่อยากพูดมากกว่า

พวงทอง – สิ่งที่สังคมไทยไม่มีเหมือนสังคมอื่น ในสังคมตะวันตกจะเห็นกรณีที่ผู้มีอำนาจเมื่อหมดอำนาจไป 30-40 ปี จะออกมาเล่าเรื่องว่ารู้สึกผิดกับการกระทำในเหตุการณ์นั้น แต่คนไทยจะปล่อยให้ข้อเท็จจริงตายไปกับตัวเอง เขาอาจกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวหรือตัวเขาเอง ที่เพราะโครงสร้างทางอำนาจที่ค้ำจุนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน ยังคงมีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เขากลัวว่าถ้าเขาเล่าแล้วจะกลายเป็นแกะดำ จะได้รับผลกระทบ จึงเล่าไม่ได้

จากการไปพูดคุยญาติผู้เสียชีวิตยังต้องการคำสำนึกผิดไหม?

ภัทรภร – เฉพาะที่ได้พูดคุย ยังไม่เห็นครอบครัวไหนบอกว่าเขาต้องการสิ่งนี้เลย แต่มีครอบครัวหนึ่งที่พี่ชายเสียชีวิตแล้วน้องเขาถามว่า “ทำไมไม่เรียกพี่ชายเขาว่าวีรชน?” แต่พี่สาวเขาก็สะท้อนว่าเขาไม่คิดว่าจะมีความยุติธรรมเกิดขึ้นได้

พวงทอง – บางครอบครัวก็ไม่ให้สัมภาษณ์เลย เขาไม่เห็นประโยชน์อะไร เขาคิดว่าไม่มีทางที่พวกเขาจะได้รับความยุติธรรมกลับมา แถมเขาอาจจะเดือดร้อนกับการให้สัมภาษณ์เสียอีก เขาอาจจะอธิบายไม่ได้ว่าเขากลัวอะไร แต่เขาคงรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเซ็นซิทีฟ มีความกลัวที่เขาอธิบายไม่ได้อยู่

แต่ละครอบครัวมีความพยายามที่จะเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไหม?

พวงทอง – แต่ละครอบครัวก็รับมือกับความสูญเสียไม่เหมือนกัน กรณีแม่เล็ก แม่ของคุณมนู วิทยาภรณ์ ที่ถูกยิงในวันที่ 6 ตุลา แม่เล็กบอกว่า ยังดีที่สภาพศพของมนูนั้นยังดี เหมือนแค่หลับไปเฉยๆ ความเจ็บช้ำเลยอาจจะน้อยกว่าบางครอบครัวเจอลูกในสภาพศพที่แทบจะจำลูกไม่ได้ อย่างกรณี วิชิตชัย อมรกุล คุณพ่อเขาจำศพลูกตัวเองไม่ได้

ภัทรภร – กรณีจารุพงษ์ พ่อแม่เขาเชื่อว่าหากลูกเขายังมีชีวิตอยู่ต้องกลับบ้าน 1-2 ปีแรก น้องๆ เขาเอาผ้าห่มหมอนมุ้งมานอนหน้าประตูบ้าน ถ้าหากพี่ชายเรียกหรือเคาะประตู พวกเขาจะได้รีบเปิดให้ทันที นี่คือการรอคอยของครอบครัวเขา

คนรุ่นหลังของครอบครัวได้รับผลกระทบไหม?

พวงทอง – มีครอบครัวหนึ่งที่พี่สาวของผู้เสียชีวิตยินดีให้สัมภาษณ์ด้วยดี หลังจากนั้น 2-3 วันเขาโทรมาว่าสามีและลูกสาวขออย่าให้เปิดเผยหน้าและชื่อจริง เพราะเขากลัวว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคของรัฐบาลทหาร ชัดว่าในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย บางคนที่พอรู้เรื่องการเมืองอยู่บ้างเขาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องเซ็นซิทีฟของกลุ่มอำนาจ แม้ว่ากลุ่มอำนาจปัจจุบันอาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ในเชิงเครือข่ายในโครงสร้าง

ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น เกิดจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของสังคมไทยหรือไม่?

พวงทอง – ใช่ เพราะทุกครอบครัวต่างรู้ว่าพวกเขาไม่มีทางได้รับความยุติธรรม เขาอาจจะระบุตัวตนของคนมีอำนาจในปัจจุบันไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เขารู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงกันอยู่ นี่เป็นความกลัวที่อยู่ในใจของเขา ทำให้ไม่กล้าที่จะออกมาแสดงตัว

ภัทรภร – เมื่อเราพูดถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด จะเห็นตัวอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกิดขึ้น ไม่ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเหตุการณ์ไหนก็ตาม อันนี้ก็คิดว่าถ้าตัวเองเป็นคนในครอบครัวของเขา ก็คงไม่มีความหวัง ในเมื่อมันไม่เคยมีการนำคนผิดมาลงโทษได้

ในอนาคตมีโอกาสที่เรื่องนี้จะกลับสู่กระบวนการยุติธรรมไหม?

พวงทอง – ดิฉันคิดว่าไม่มีความหวัง 40 ปีแล้ว คนที่เกี่ยวข้องในอีกไม่กี่ปีก็คงเสียชีวิตกันไปหมด เรื่องของกระบวนการยุติธรรมในเดือนตุลาดิฉันไม่มีความหวัง แต่ว่าถ้าจะมีความหวังก็ขอให้เราได้พูดเรื่องนี้มากขึ้นได้เรื่อยๆ ขอให้เพดานการพูดถึงเรื่องนี้มันขยับ แล้วให้สังคมสนใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่เราอยากก้าวต่อไป

คนรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกว่าเรื่องนี้ไกลตัว เป็นไปได้ไหมว่าเรื่องนี้จะถูกลืม?

พวงทอง – ก็เป็นไปได้ มันอาจจะไม่ถูกบรรจุไว้ในบทเรียนใดๆ ของสังคมไทยก็เป็นได้ อันนี้ก็เป็นชะตากรรมของสังคมไทย ดิฉันเชื่อว่าถ้าเราลืมสิ่งที่เกิดขึ้นใน 6 ตุลา, พฤษภา 35 หรือพฤษภา 53 เราก็จะมีความรุนแรงใหม่ๆ ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้บทเรียนเพิ่มขึ้นอีก ถ้าสังคมไทยไม่สรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต เราก็จะมีความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ภัทรภร – นี่เป็นคำถามที่น้องที่ทำงานด้วยซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มักถามครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เราไปสัมภาษณ์ว่า ทำไมเด็กรุ่นเขาจะต้องเรียนรู้หรือต้องทำความเข้าใจ คำตอบของครอบครัวเหล่านั้นคือ ถ้ามันไม่ได้รับการบอกเล่าต่อมันก็จะเกิดขึ้นอีก ต่อให้ญาติผู้เสียชีวิตจะเงียบยังไง แต่พวกเขาก็อยากให้เรื่องนี้เป็นที่พูดถึง หรือถูกเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง

สิ่งที่คนรุ่นหลังควรเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้?

พวงทอง – ประเด็นสำคัญที่เราอยากจะฝากให้กับคนรุ่นหลังก็คือ 1.การจัดการกับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดทางการเมืองไม่ควรจบลงด้วยการใช้ความรุนแรง

2.ความรุนแรงที่อัปลักษณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อทั้งของทางราชการ สื่อมวลชนเสรีทั่วไป และมวลชนด้วยกันเอง ซึ่งไม่ได้ใช้เวลานาน เพียง 3 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเท่านั้นเอง ถ้าเราจะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราต้องตระหนักว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะก่อความรุนแรง แล้วเวลาที่มันก่อขึ้นมาเราจะมองไม่เห็นมันหรอก ตอนที่เราเริ่มด่าอีกฝ่ายว่าเป็นศัตรูของชาติ เป็นวัชพืช เป็นเนื้อร้ายที่ต้องกำจัดทิ้ง เรารู้สึกว่านี่เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่จริงๆ แล้วมันจะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพได้ในที่สุด

3.ความรุนแรงโดยรัฐ ต่อให้รัฐมีอำนาจทั้งทางกฎหมายและอำนาจทางกำลัง แต่รัฐเองจะต้องถูกควบคุมด้วยสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐไม่มีสิทธิที่จะใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการทำลายชีวิตของประชาชน อย่างที่เกิดขึ้นมาหลายกรณีในสังคมไทย

………..

หากต้องการให้ข้อมูล รูปภาพ เอกสาร หรือเรื่องเล่าแก่โครงการภาพยนตร์สารคดี “ตามหาคนในภาพถ่าย” สามารถเยี่ยมชมและติดต่อได้ที่เว็บไซต์ www.6oct-photo.com อีเมล์ [email protected]

“เราอยากทำงานกับคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องภาพถ่าย, ต้นไม้ หรือการชันสูตรพลิกศพ อยากให้ช่วยดูรูปภาพและช่วยกันวิเคราะห์” ภัทรภรกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image