“มีชัย” จวก สปท. “ไม่มีหน้าที่ออกกม.ลูก ก็อย่าจุ้นเดาเอาเอง”

“มีชัย”ยันเลือกตั้งตามโรดแมป “บิ๊กตู่” เร่งดัน กม.ลูก เดินหน้าฉบับจำเป็นก่อน จวก “สปท.”ไม่มีหน้าที่ออกกม.ลูก อย่าจุ้นเดาเอาเอง

เมื่อเวลา 15.15 น.วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาแนวทางการดำเนินงานภายหลังเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ให้สัมภาษณ์กรณีที่สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) อภิปรายว่าขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลูกของกรธ.เขียนไว้ยืดยาวอาจส่งผลให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2561 ว่า เรารับรู้ถึงความกังวลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ซึ่งระยะเวลาของการจัดทำกฎหมายลูกประมาณ 8 เดือน แต่กรธ.ก็อาจจะไปจัดสรรว่ากฎหมายใดที่จำเป็นก็ดำเนินการจัดทำไปก่อน โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีเวลาในการพิจารณากฎหมายลูกให้แล้วเสร็จประมาณ 2 เดือน สปท.ไม่ได้ทำจะไปคาดการณ์เอาเองไม่ได้ ทั้งนี้ การพิจารณากฎหมายลูกเราจะพิจารณาดูว่าฉบับใดมีความจำเป็นก็จะรีบดำเนินการ และเมื่อพิจารณาฉบับใดเสร็จก็จะทยอยส่งให้สนช.พิจารณา จะไม่ได้ส่งไปทีเดียวพร้อมกันหมดทั้ง 10 ฉบับ

นายมีชัย กล่าวถึงข้อเสนอของสมาชิกสปท.ที่ต้องการให้บทเฉพาะกาลเขียนกำหนดให้ส.ว.ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งจากคสช.นั้น เข้าใจว่าเป็นการพูดทีละคน คงต้องรอดูเขาก่อนว่าทั้งหมดเขาว่าอย่างไร เบื้องต้นเราก็คงต้องรับฟังไปก่อน อย่าเพิ่งไปคิด หรือตัดสินอะไร ควรจะรอดูมติที่ชัดเจนก่อน เมื่อถามว่า แสดงว่ากรอบการจัดการเลือกตั้งก็จะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม 60 หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คงจะอยู่แถวๆนั้นไม่น่าจะผิดพลาดไปมาก เพราะเมื่อท่านนายกฯพูดแล้วก็ต้องเคารพ

เมื่อถามว่า ทางกรธ.ต้องอธิบายหรือชี้แจงประเด็นส.ว.เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากหลายคนบอกว่ายละเอียดยังคงมีความไม่ชัดเจนอยู่ นายมีชัย กล่าวว่า ต้องดูเขาก่อนว่าสิ่งใดไม่ชัดเจน หากไม่ชัดเจนจริงเราเขียนได้เราก็เขียนหากเขียนไม่ได้ ก็ต้องไปเขียนในกฎหมายลูก ข้อเท็จจริงที่เราเขียนไม่ละเอียด เพราะเพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนได้กรณีที่มันเกิดเป็นปัญหาและจะได้พัฒนาไปตามวิถีทาง ถ้าหากเขียนทั้งหมดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญก็จะทำให้เกิดเป็นปัญหาในภายหลังได้หากว่าเราคิดไม่รอบคอบ ยกตัวอย่าง เราคิดว่าแก้ปัญหาเพื่อป้องกันการฮั้วกัน แต่เอาเข้าจริงเมื่อป้องกันไม่ได้ เราก็จะได้ไปปรับปรุงแก้ไขได้ เบื้องต้นก็คงต้องรอฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายไปก่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image