ตามหา ‘แมวศุภลักษณ์’ เป้า 200 ตัว ตีทะเบียนองค์กรเหมียวโลก

พาณิชย์ยันไม่พบนำแมวไทยไปจดสิทธิบัตร อ้างสามารถเพิกถอนได้ ชี้แค่ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม น.ส.พนารัตน์ คำฉัตร ผู้จัดการศูนย์แมวไทยโบราณและผู้จัดงานประกวดแมวพันธุ์ไทยโบราณ ภายในงาน Pet Variety สิ่งมหัศจรรย์โลกแห่งสัตว์เลี้ยง ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม เปิดเผยว่า ผลการประกวดแมวไทยแท้สายพันธุ์โบราณประจำปี 2559 ออกมาแล้ว จากการนำแมวสายพันธุ์ไทยโบราณ 70 ตัว 5 สายพันธุ์จากทั่วประเทศร่วมประกวด คือ ขาวมณี วิเชียรมาศ โกนจา โคราช และศุภลักษณ์ แต่ละสายพันธุ์จะประกวดกันเองก่อน หลังจากนั้นผู้ชนะเลิศของแต่ละสายพันธุ์ก็จะมาแข่งกันเองอีกครั้งเพื่อสรรหาตัวที่สวยและดีที่สุด ผลปรากฏว่าถ้วยรางวัลใหญ่ Best of the Best “Maew Thai Boran” ผู้ชนะรางวัลคือแมวสายพันธุ์โคราช เพศผู้ อายุ 10 เดือน ชื่อเจ้าวายุ ของนายสุพัฒน์ เกษสุวรรณ และรางวัล Best of the Best “Personality and Temperament” แมวบุคลิกดี นิสัยดี น่ารัก และขี้เล่น ผู้ชนะคือเจ้าชาเขียว แมวพันธุ์วิเชียรมาศ วัย 4 เดือน ของนายชนินทร์ มาศสุพงศ์

น.ส.พนารัตน์กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องแมวไทยโบราณ 5 สายพันธุ์ แต่ถูกต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตรหรือนำไปขึ้นทะเบียนให้กลายเป็นแมวของตัวเองไปแล้ว 4 สายพันธุ์คือ ขาวมณี โกนจา และโคราช ถูกสหรัฐอเมริกานำไปขึ้นทะเบียน ส่วนวิเชียรมาศถูกอังกฤษนำไปขึ้นทะเบียน เหลือเฉพาะแมวศุภลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นแมวไทยโบราณที่หายากที่สุด ยังไม่มีใครขึ้นทะเบียน และสมาคมแมวไทยโบราณอยู่ระหว่างพยายามดำเนินการเรื่องนี้อยู่ โดยต้องหาแมวศุภลักษณ์ให้ได้จำนวน 200 ตัว ทุกตัวต้องมีลักษณะที่กำหนดเอาไว้ตามตำราแมวศุภลักษณ์คือ ขนสีทองแดงเสมอกันทั้งตัว ไม่มีแต้ม หนวดสีทองแดง ตาสีเหลืองอำพัน อุ้งตีนสีชมพูอมส้ม ตรวจเลือดตรวจดีเอ็นเอแล้วรับรองว่าเป็นแมวศุภลักษณ์จริง สมาคมอนุรักษ์แมวไทยโบราณก็จะขึ้นทะเบียนรับรองเอาไว้ แล้วนำส่งรายละเอียดให้ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองและประกาศอย่างเป็นทางการในระดับสากลว่าแมวศุภลักษณ์คือแมวไทย จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนดเอาไว้ตามตำราเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอื่นได้

“ถามว่าทำไมต้องทำ ทำไมต้องขึ้นทะเบียน ก็เพราะว่าที่ผ่านมาคนไทยทุกคนรู้อยู่แก่ใจดีว่าทั้ง 5 สายพันธุ์คือแมวของเรา แต่เมื่อคนอื่นเขาเอาไปขึ้นทะเบียนว่าเป็นแมวของเขา เขาสามารถไปกำหนดลักษณะใหม่ได้ทั้งหมด แต่ยังใช้ชื่อว่าแมวไทยอยู่ เช่นเวลานี้แมวโคราชถูกเอาไปผสมกับเปอร์เซีย กลายเป็นแมวหน้าหัก แต่ยังถูกเรียกว่าแมวโคราชอยู่ มีการประกวดเวทีไหนในต่างชาติ ถึงแม้ว่าเราเอาแมวโคราชที่มีลักษณะตามตำราแมวโบราณของเราทุกอย่างไปเข้าประกวด งามแค่ไหนก็ไม่ชนะ เพราะคำว่าแมวโคราชตอนนี้ถูกเปลี่ยนลักษณะไปแล้ว จึงได้แต่รับรู้กันในคนไทยว่าแมวโคราช หรือพันธุ์อื่นๆ ตามลักษณะแมวไทยโบราณแท้ๆ นั้นเป็นอย่างไร มันเป็นเรื่องสะเทือนใจมากมาย ศุภลักษณ์จึงเป็นความหวังเดียวของเรา หลังจากมีข่าวเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีทั้งไลน์ทั้งโทรศัพท์โทรเข้ามาถามรายละเอียด ส่งรูปแมวศุภลักษณ์มาให้เราดูมากกว่า 20 ตัว แต่เท่าที่ดูพบว่ามีแค่ 1 ตัวเท่านั้นที่เข้าข่ายศุภลักษณ์จริงๆ แต่เราก็ยังไม่ยอมหยุด ขอให้ทุกคนที่มีแมวศุภลักษณ์ส่งรูปหรือเอามาให้เราดูได้เรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 200 ตัว เราจะประกาศได้อย่างเป็นทางการว่าศุภลักษณ์คือแมวของเรา” น.ส.พนารัตน์กล่าว

Advertisement

น.ส.พนารัตน์กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีเล็กๆ ว่า หลังจากที่มีข่าวออกไปว่าทางสมาคมแมวไทยโบราณจะนำแมวศุภลักษณ์ไปขึ้นทะเบียน ปรากฏว่าทางสหรัฐและอังกฤษที่เดิมก็อยู่ระหว่างรวบรวมแมวศุภลักษณ์เพื่อไปจดทะเบียนที่สมาคมแมวโลกว่าแมวศุภลักษณ์เป็นของตัวเองนั้นได้หลีกทางให้ประเทศไทย โดยบอกว่าจะเปิดโอกาสให้ทางสมาคมแมวไทยโบราณรวบรวมแมวศุภลักษณ์ให้ครบ 200 ตัว และดำเนินการจดทะเบียนเป็นแมวไทยโบราณให้ได้เร็วๆ เพราะเห็นว่าหากไม่ใช่ประเทศไทยเป็นเจ้าของ ลักษณะแท้ๆ ของแมวศุภลักษณ์อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเหมือนพันธุ์อื่นๆ อีก ถือเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง แต่แม้ว่าเขาจะหลีกทางให้ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะเวลานี้ศุภลักษณ์แท้ๆ หายากมาก จึงต้องขอความร่วมมือไปยังคนไทยทุกคนให้ช่วยกันในเรื่องนี้ด้วย

นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีทางอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำแมวไทยไปจดทะเบียนสิทธิบัตรว่า หากเป็นแมวสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีการผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ เช่น แมวไทยพันธุ์วิเชียรมาศ โคราช ขาวมณี โกนจา ศุภลักษณ์ ตามหลักการและแนวทางของการจดสิทธิบัตรทั้งของไทยและต่างประเทศ ถือเป็นหลักการของทั่วโลกจะไม่รับจด กล่าวคือ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะไม่รับจดสิทธิบัตร หากจะสามารถจดสิทธิบัตรได้ต้องเกิดจากการนำแมว 2 สายพันธุ์มาผสมพันธุ์ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่จึงจะจดสิทธิบัตรได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับกฎหมายของแต่ละประเทศในการขอจดด้วยว่าเมื่อผสมสายพันธุ์ใหม่แล้วจดได้หรือไม่ เช่น ในไทยจะไม่คุ้มครอง ไม่รับจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์สายพันธุ์ใหม่ แต่จะคุ้มครองกรรมวิธีใหม่ในการคิดค้นพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์

“กรณีมีข่าวว่าต่างประเทศนำแมวไทยไปขึ้นทะเบียนนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบการขอจดสิทธิบัตร อาจจะเป็นการขึ้นทะเบียนลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แต่มีการใช้คำว่าจดสิทธิบัตร จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าเป็นการขึ้นทะเบียนแบบใด ขณะนี้พบว่าที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกาเคยมีการนำแมวสายพันธุ์หนึ่งขอจดสิทธิบัตร ซึ่งมีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นแมวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ศาลจึงตัดสินให้ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ และทางสหรัฐก็ไม่รับจด ส่วนทางยุโรปเคยมีการขอยื่นจดสิทธิบัตรแมว แต่ถอนไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น หากพบว่ามีการนำสายพันธุ์พืชหรือสัตว์ของไทยไปจดสิทธิบัตรในต่างประเทศก็สามารถยื่นเรื่องให้เพิกถอนการจดสิทธิบัตรได้ ด้วยการพิสูจน์ทางข้อมูลให้หน่วยงานของต่างประเทศที่รับจดได้ทราบว่าสายพันธุ์พืชหรือสัตว์เป็นของไทยจริงๆ ปรากฏอยู่แต่เดิมในบ้านเรามานานแล้ว ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิทธิบัตรสามารถดำเนินการยื่นเรื่องเพิกถอนได้” นายทศพลกล่าว

Advertisement

นายทศพลกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องสิทธิบัตรในการคุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์แล้ว ไทยยังมีกฎหมายอื่นๆ ในการดูแลพันธุ์พืชและสัตว์ ที่มีหน่วยงานอื่นๆ ดูแลเพิ่มเติมอีกเช่นกัน เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ ในการดูแลพันธุ์พืชและสัตว์ดั้งเดิมและใหม่ ดังนั้น การขึ้นทะเบียนหรือขอจดครอบครองสิทธิอาจจะต้องพิจารณาตามกฎหมายของหน่วยงานที่ดูแลอยู่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image