คลี่ปมภาพสลัก ‘ถ้ำพระโพธิสัตว์’ กับสัมปทานระเบิดเขา ฤๅหินจะเลอค่ายิ่งกว่าเพชร?

‘เพชรมีค่ากว่าหิน!’

นี่คือคำกล่าวของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เมื่อได้รับทราบเบาะแสข่าวบริษัทเอกชน 2 แห่งขอสัมปทานระเบิดหินใกล้แหล่งโบราณคดีสำคัญใน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี อันเป็นที่ตั้งของ “ถ้ำพระโพธิสัตว์” ที่มีภาพสลักงดงาม หนึ่งในเพชรเม็ดเป้งของศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดีเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว ก่อนจะกลายเป็นข่าวหน้า 1 ซึ่งสร้างความร้อนใจให้ผู้ห่วงใยในมรดกแห่งมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่งว่า หากไฟเขียวให้ระเบิดหิน แรงสั่นสะเทือนจะส่งผลเสียหายต่อถ้ำแห่งนี้หรือไม่?

แม้แต่นายช่างชำนาญการของอุตสาหกรรมจังหวัดผู้ลงพื้นที่ หลังมีกระแสข่าวก็ยังยอมรับว่าภาพดังกล่าวมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ วัดถ้ำพระโพธิสัตว์หัวกระไดไม่แห้ง ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสถานที่ดังกล่าวมีบทบาทต่อท้องถิ่น ผู้คนยังขึ้นเขาไปกราบไหว้สักการะ ด้านอธิบดีกรมศิลปากร หน่วยงานที่ดูแลโบราณวัตถุสถานทั่วไทยออกมาแถลงไขว่าทักท้วงไปยังคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ตัดสินใจอนุญาตหรือไม่คือกระทรวงอุตสาหกรรม

ระหว่างที่คล้ายจะยังไม่มีความชัดเจน มาย้อนดูเรื่องราวของถ้ำพระโพธิสัตว์ที่ไม่ได้มีเพียงความงามทางด้านศิลปะ หากแต่สะท้อนถึงเรื่องราวของผู้คนบนดินแดนภาคกลางของไทยในอดีตกาล

03
ภูมิประเทศโดยรอบเขาน้ำพุเป็นเทือกเขาหินปูน มีถ้ำจำนวนมาก คนโบราณใช้ประโยชน์หลากหลาย โดยมักเลือกภูเขาที่โดดเด่นเป็น “แลนด์มาร์ก”

ภาพสลักพันปี มีในราชกิจจานุเบกษา 2506

มาเริ่มต้นกันที่ข้อมูลซึ่งบันทึกถึงการค้นพบและรายละเอียดอื่นๆ ในทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2516 ของกรมศิลปากร ระบุว่าถ้ำพระโพธิสัตว์มีอีกชื่อหนึ่งว่าถ้ำเขาน้ำพุ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 29 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2506

Advertisement

แรกพบถ้ำนี้มีผู้พบเครื่องมือหินที่แสดงให้เห็นว่ามีคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยุคต้นประวัติศาสตร์อยู่อาศัย แต่สิ่งที่โดดเด่นที่แสดงให้เห็นว่าเป็นศาสนสถานสำคัญคือภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำที่มีรูปพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท มีรูปพระอิศวร (ศิวะ) พระนารายณ์ (วิษณุ) เรียงแถวต่อมาในลักษณะแสดงความอ่อนน้อม รวมทั้งมีภาพเทวดาเหาะและนั่งแสดงความเคารพ

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งในขณะนั้นยังรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ระบุว่าลักษณะศิลปกรรมฝีมือช่างเป็นแบบทวารวดี แสดงให้เห็นว่าผู้สลักไม่ใช่ช่างในท้องถิ่น แต่เป็นผู้มีความรู้ด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์มากพอสมควร

ต่อมา หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ยังนิพนธ์บทความลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 20 ฉบับที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2537) เรื่อง “ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับถ้ำพระโพธิสัตว์ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี” นอกจากจะวิเคราะห์รูปแบบและพัฒนาการด้านศิลปะโดยเปรียบเทียบกับแหล่งอื่นๆ ยังเปิดเผยภาพถ่ายระยะใกล้ของภาพสลักดังกล่าว รวมถึงสำเนา (rubbing) ที่ทำให้เห็นภาพที่คมชัดยิ่งขึ้น

ภาพสลักชิ้นนี้เป็นหนึ่งในภาพที่ถูกใช้ในการสอนนักศึกษาคณะโบราณคดีสืบมาทุกรุ่น เพราะเป็นตัวอย่างศิลปกรรมล้ำค่า ทั้งยังมีปริศนาที่ยังคลายไม่ออกมาถึงทุกวันนี้

พุทธคู่ฮินดูเก่าสุดในไทย ผสมผสานหรือขันแข่ง?

05
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร พูดคุยกับพระครูวิสาลปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ซึ่งดูแลทั้งถ้ำและเขตวัดอย่างดี

สำหรับปริศนาที่ว่านี้ ต้องจ่อไมค์ไปที่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ เจ้าของวาทะ “เพชรมีค่ากว่าหิน” ซึ่งอธิบายอย่างละเอียดยิบว่า ภาพสลักนูนต่ำในวัฒนธรรมทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว โดยเป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 2 องค์คือพระศิวะและพระนารายณ์ ด้านรูปแบบรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะ มีอายุร่วมสมัยกับพระพุทธรูปศิลาขาวที่พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ที่สำคัญมากคือเป็นภาพสลักที่มีพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าในศาสนาฮินดูอยู่ร่วมกันที่เก่าแก่ที่สุดในไทย โดยอาจตีความได้ถึงการแข่งขันกันระหว่างศาสนา หรือในทางกลับกัน อาจเป็นการผสมผสานด้านความเชื่อก็เป็นได้ นอกจากนี้ ยังเป็นหลักฐานที่ทำให้ทราบว่าผู้คนในยุคทวารวดีมีการใช้ถ้ำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หากถูกทำลายไป ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ ถือว่าน่าเสียดายมาก

“ภาพสลักในถ้ำพระโพธิสัตว์เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมาก เป็นภาพพระพุทธเจ้าเทศนาโปรดเทพเจ้า 2 องค์ องค์ที่อยู่ใกล้พระพุทธองค์คือพระศิวะซึ่งทรงถือประคำ ส่วนอีกองค์ที่อยู่ไกลออกไปคือพระวิษณุ 4 กร ถือจักรและสังข์ พระกร 2 ข้างไขว้อกซึ่งหมายถึงการนบนอบต่อพระพุทธเจ้า ตรงนี้อาจตีความว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างศาสนาพุทธกับฮินดู หรืออาจมองว่าเป็นการผสมผสานความเชื่อก็ได้ สิ่งสำคัญคือทำให้ทราบว่าคนใช้ถ้ำเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เหลือให้เห็นเป็นรูปธรรมแค่ไม่กี่แห่ง เป็นภาพสลักที่มีทั้งพระพุทธเจ้าและเทพศาสนาอื่นอยู่ด้วยกันที่เก่าที่สุด”

ซ่อนกายในแลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือทำไมถ้ำพระโพธิสัตว์จึงมาอยู่ที่นี่?

สุจิตต์ วงษ์เทศ วิเคราะห์ว่า บริเวณนี้เป็นหุบเขาของพื้นที่ต่อเนื่องจากที่ราบลุ่มขึ้นที่ราบสูงโคราช มีพืดเขาโอบล้อมด้านตะวันออกกับด้านเหนือ-ใต้ มีแม่น้ำป่าสักทำแนวปราการอยู่ทางตะวันตก ภูมิประเทศเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐใหญ่กว่าที่มีศูนย์รวมอยู่บริเวณเมืองลพบุรี แต่อำนาจไม่แผ่กระจายถึงหุบเขาที่มีถ้ำพระโพธิสัตว์

ดังนั้น ถ้ำแห่งนี้คงเป็นหลักแหล่งของกลุ่มผู้ถืออำนาจเอกเทศ อาจเป็นเครือญาติกับผู้ถืออำนาจรัฐที่มีศูนย์รวมอยู่เมืองลพบุรียุคนั้นกับเมืองเอกเทศใกล้เคียง เช่น เมืองอู่ตะเภา ต.ม่วงหวาน อ.หนองแซง จ.สระบุรี, เมืองขีดขิน (เมืองปรันตปะ) บ้านคูเมือง ต.บ้านหมอ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ขณะเดียวกันก็เป็นเครือญาติกับกลุ่มมีอำนาจรัฐบริเวณที่ราบสูงโคราช ต้นลำน้ำมูล จนถึงเมืองพระนครที่โตนเลสาบในกัมพูชา

คอลัมนิสต์ฝีปากคมยังบอกอีกว่า ของดีมีอยู่ต้องรักษา อย่าปล่อยทำลายจนพินาศ

“ของดีมีอยู่ รู้แล้วต้องรักษา อย่าเสือกปล่อยทำลายฉิบหายวายวอดแล้วมาฟูมฟายเสียดายของดีเมื่อไม่มีเหลือ แม้สลักหินหน้าผาเป็นพระพุทธรูปก็วางใจไม่ได้ เพราะจะมีตามมาอีกมากคือสิ่งก่อสร้างสารพัดที่อ้างศาสนาจนป่าพินาศ ธรรมชาติฉิบหายเพิ่มอีก” สุจิตต์ยิงหมัดตรงตามสไตล์ และยังเล่าอีกว่า ในอดีตเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้วเคยมีการระเบิดใน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี รวมถึงบริเวณใกล้กับ “เขางู” อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนที่มีพระพุทธรูปปูนปั้นพร้อมจารึกสมัยทวารวดีเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นย่านที่ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัย สุดท้ายมีการเดินขบวนต่อต้าน การระเบิดหินจึงต้องยุติไปในที่สุด ทว่า บางส่วนที่สูญเสียไปแล้วก็ไม่อาจเรียกคืนมาได้

ประเด็นสัมปทานระเบิดหินนี้จะจบลงอย่างไรเป็นเรื่องชวนติดตาม ว่ากงล้อประวัติศาสตร์จะหมุนซ้ำหรือยอมรับถึงบทเรียนความสูญเสีย เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

01-ภาพเด่น
ภาพสลักยุคทวารวดีที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ ตั้งอยู่บนเขาน้ำพุ อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image