คนไทยเบื่อง่าย โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ลักษณะของคนในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยก็คือ ไม่สนใจตรรกะหรือเหตุผล ไม่สนใจที่จะหาข้อมูลเพื่อวินิจฉัยว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ก่อนที่จะมีปฏิกิริยา การแสดงออกอย่างไรจึงเป็นการแสดงออกเพื่อตอบสนองจากความชอบใจหรือไม่ชอบใจ

ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนใจได้ในเวลาที่ไม่นานนัก ดังนั้นกระแสความชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลจึงเป็นกระแสชั่วคราว เพราะเป็นการชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคลไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบกติกาหรือระบบที่จะคงอยู่ได้ถาวร ยอมรับให้เป็นไปตามระบบ เมื่อเป็นการชอบหรือไม่ชอบตัวบุคคล ก็ทำให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามระบบ ไม่เป็นไปตามกติกา สามารถยอมรับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยวิธีการที่รุนแรง เช่น การปฏิวัติรัฐประหารได้

แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ความรักความชอบก็จะจืดจางลงไปด้วย เมื่อความรักความชอบจืดจางลง ก็จะมีข่าวลือในทางลบเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ เสมอ กลับกันกับตอนที่รักที่ชอบจะทำอะไรจะทำอย่างไรก็ดูจะชอบจะชื่นชมไปหมด

ดังนั้นเมื่อมีข่าวในทางลบหรือความไม่ชอบเกิดขึ้น เช่น ข่าวค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ที่หัวหินก็ดี ข่าวเรื่องการประมูลงานก่อสร้างในค่ายทหารก็ดี ข่าวเรื่องที่ตั้งของบริษัทที่เป็นบ้านพักพวกทหารก็ดี ล่าสุดข่าวเรื่องการเช่าเครื่องบินเหมาลำไปประชุมที่เกาะฮาวายก็ดี หรือแม้แต่รายการอาหารเครื่องบิน ก็สามารถออกมาเป็นข่าวให้ถูกโจมตีถูกวิพากษ์วิจารณ์ให้เสียหายได้

Advertisement

การที่เริ่มมีข่าวในทางลบออกมาได้เช่นนี้ ก็พอจะอนุมานได้ว่าฐานะในทางการเมืองของรัฐบาลน่าจะเป็นช่วง “ขาลง” หรืออย่างน้อยรัฐบาลก็ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ทั้งในแง่ความมั่นคงในการรักษาอำนาจ ความชอบธรรมและความนิยมจากประชาชนมาแล้ว

ข่าวเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการบริหารราชการแผ่นดินกับความนิยมของประชาชนนั้น ย่อมจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายตัวบุคคลภายหลังเดือนกันยายนเกือบทุกครั้งไป เพราะอำนาจใหม่มักจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 ตุลาคม

ความมั่นคงของการดำรงอยู่ในอำนาจของรัฐบาล แม้จะมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ก็ย่อมต้องตั้งอยู่กับมติของมหาชนด้วย ขณะเดียวกันมติของมหาชนย่อมสะท้อนให้เห็นได้จากการเสนอข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน ขณะเดียวกันการเสนอข่าวของสื่อมวลชนและการชี้นำที่ปรากฏในคอลัมน์ที่เป็นความคิดเห็นของคอลัมนิสต์ ก็มีผลต่อความคิดเห็นของสาธารณชนด้วย ซึ่งสาธารณชนก็มีอีกหนึ่งช่องทางโซเชียลสำหรับการเสนอและสนองกลับไปที่รัฐบาลพร้อมกัน

ในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวที่ไม่เป็นมงคลกับผู้นำในกองทัพ และผู้นำในคณะรัฐบาลถี่ขึ้นมาเรื่อยๆ แม้ว่ายังไม่มีปฏิกิริยารุนแรงนัก แต่ก็จะเป็นเรื่องที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งเรืองจำนวนผู้ร่วมคณะและรายชื่อผู้ร่วมเดินทางไปราชการก็ยังเป็นข่าวในทางลบได้ ก็แสดงว่าความเป็น “ขาลง” ของคณะรัฐบาลได้เริ่มขึ้นแล้ว

เศรษฐกิจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้การ “คาดหวัง” จากรัฐบาลของผู้ที่สนับสนุนการทำรัฐประหารและรัฐบาลทหารน้อยลง และจะเป็นข้อโจมตีได้เพราะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะต้อง “ดีขึ้นอย่างแน่นอน” ในครึ่งหลังของปีนี้ และเมื่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดีขึ้นจริงอย่างที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ ความน่าเชื่อถือก็ลดลง

 

6ตุลาคม

 

ทางรัฐบาลก็คงจะทราบความรู้สึกเช่นนี้ดี จึงมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการจัดงาน 40 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างรุนแรง โดยการห้าม โจชัว หว่อง เด็กชั้นมัธยม ผู้นำนักเรียนที่จัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับฮ่องกงจากรัฐบาลจีน โดยที่ผู้นำของเราไม่ได้พูดความจริงว่าจีนไม่ได้ขอร้องแต่ฝ่ายเราเองที่คิดเอาเอง การที่ไม่พูดความจริงถ้าทำบ่อยๆ เข้าก็จะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไปโดยปริยาย ไม่เหมือนกับตอน “ขาขึ้น” จะพูดอย่างไรผู้คนก็เชื่อแม้จะจับได้ว่าพูดไม่จริง พูดตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง ก็ไม่มีใครว่าอะไร และจะช่วยอธิบายให้ด้วยว่าเป็นความจริงอย่างไร จึงมีภาษิตในทางการเมืองว่า “ความจริงเป็นอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับผู้คนเชื่อว่าเป็นอย่างไร”

ในช่วง “ขาลง” ของรัฐบาลนั้น สิ่งที่จะต้องระมัดระวังมากก็คือมักจะเกิดอุบัติเหตุเสมอ ไม่ช้าก็เร็ว อุบัติเหตุมักจะเริ่มจากการก่อตัวของการปลุกกระแสให้มีการชุมนุม โดยจะมีกลุ่มเล็กๆ เริ่มออกมาท้าทายกฎอัยการศึกเพื่อให้มีการจับกุมก่อน เมื่อมีการจับกุมคุมขังระยะหนึ่งไม่นานนัก ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัว นานวันก็สะสมกลายเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่โตขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการ “ป้องปราม” ด้วยการจับกุม ก็ควรอนุญาตให้มีการปล่อยไปเสียโดยเร็ว

มิฉะนั้นก็จะเป็นการเอื้อให้กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศเรียกร้องดังขึ้นทุกที เป็นการเร่งอัตราการเป็น “ขาลง” ของรัฐบาลให้เร็วขึ้น

เคยมีคำถามว่า “การเป็นขาลง” ของอำนาจนั้นจะเปลี่ยนกลับให้เป็นขาขึ้นได้หรือไม่ ในทางทฤษฎีหรือในทางวิชาการวิชารัฐศาสตร์ ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน แต่จะต้องมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันใหม่เกิดขึ้น และรัฐบาลในขณะที่ครองอำนาจสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ให้สำเร็จลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี เช่น พลิกกลับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจากการเป็นเศรษฐกิจขาลงให้เป็นเศรษฐกิจขาขึ้น หรือสามารถสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือทางทหารกับประเทศอื่น และเรียกร้องความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อต่อสู้กับอริราชศัตรูนอกบ้าน

วิธีการหันเหความสนใจของประชาชนจากปัญหาภายในประเทศ ออกไปสู่การขัดแย้งทางการเมืองและการทหารกับต่างประเทศ มักจะนำไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังกับต่างประเทศ และก็นำมาซึ่งความเสียหายด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศก็เลยใช้วิธีนี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนออกนอกประเทศ แต่มาถึงยุคศตวรรษที่ 21 การเบี่ยงเบนความสนใจเช่นว่าอาจจะใช้ไม่ได้ผลในการพลิกสถานการณ์ “ขาลง” ของรัฐบาล ให้กลายเป็น “ขาขึ้น” ได้ แต่ก็คงจะมีการทำ ถ้าไม่มีทางอื่นให้เลือก ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์เหตุการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็คงต้องคอยดูต่อไป วิชารัฐศาสตร์ในระยะหลังนี้มีคนพยายามที่จะให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเหมือนกับวิชาเศรษฐศาสตร์ เพื่อจะได้พยากรณ์ไปข้างหน้าได้ วิชารัฐศาสตร์จึงต้องเป็นการศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองทางสังคมประเทศใดประเทศหนึ่ง ว่าพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนของสังคมนั้นเป็นอย่างไร และเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองเกิดขึ้น ปฏิกิริยาในช่วงแรกเป็นอย่างไร เหตุการณ์ต่อเนื่องคืออะไร จะพัฒนาไปในอนาคตอย่างไร ผู้คนและสิ่งแวดล้อมกระทำอย่างไรและจะตอบสนองต่อปัจจัยอื่นอย่างไร แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้อย่างแน่ชัด แต่ก็พอบอกได้ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร

ข่าวที่เป็นลบ แม้จะเป็นความจริง แต่ก็จะถูกขยายโดยสื่อมวลชนให้เลวร้ายกว่าความเป็นจริง ในทางตรงกันข้ามข่าวที่เป็นบวกหรือข่าวที่เป็นมงคลก็จะถูกบีบให้เป็นข่าวที่เล็กลง ที่ควรจะอยู่หน้าหนึ่งก็จะไปอยู่หน้าในหรือไม่ก็ไม่เป็นข่าวเลย ส่วนข่าวที่เป็นลบก็จะเป็นข่าวพาดหัวในหน้าหนึ่งไป

เมื่อไหร่สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ก็อนุมานได้เลยว่าเป็น “ขาลง” และอาจจะพอมองเห็นว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกโดยไม่ใช่ “สันติวิธี” เพราะเรายังไม่ถึงกำหนดให้มีการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดอ่อนของระบอบการปกครองแบบนี้ เพราะอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครควบคุมได้

การมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งโดยเร็ว จึงเป็นสิ่งจำเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image