‘บิ๊กต๊อก’ชี้ความศรัทธาในตัวนายกฯ คือปัจจัยสำคัญช่วยประชามติผ่าน

‘บิ๊กต๊อก’ส่งข้อเสนอ ร่าง รธน.ถึงมือ’วิษณุ’แล้ว 11 ประเด็น ชี้ความศรัทธาในตัวนายกฯ ช่วยประชามติผ่าน

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปัญญา นิรันดร์กุล พร้อมคณะผู้บริหารเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้าพบ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายชาญเชาวน์ ไชยนุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อมอบดีวีดีซีรีย์ “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” สนับสนุนโครงการคืนคนดีสู่สังคม โดยได้มอบดีวีดีจำนวน 500 ชุด ให้กับกระทรวงยุติธรรม ให้ส่งมอบต่อไปให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

จากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ในส่วนกระทรวงยุติธรรมได้ส่งข้อเสนอถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเพื่อรวบรวมเป็นความเห็นของรัฐบาล รวม 11 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย สิทธิมนุษยชน กระบวนการด้านงานยุติธรรม ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่การโต้แย้ง เพราะบางครั้งในร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเขียนกว้างเกินไปจนเราไม่เข้าใจ และเท่าที่ฟังจากนายวิษณุ บางเรื่องอาจจะต้องอยู่ในกฎหมายลูกเพื่อขยายความ ซึ่งบางประเด็นอาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์บางพันธะกรณีระหว่างประเทศที่เราได้ดูแล จึงบอกเจ้าหน้าที่ว่าประเด็นใดที่สงสัยให้เขียนเสนอไปก็แล้วกัน แต่ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องภายในกระทรวง และภาพกว้างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องความเป็นธรรมสิทธิมนุษยชน เขาได้อธิบายแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าต้องทำอะไรบ้าง หากไม่ทำจะเป็นความผิดรัฐบาล ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นเรื่องการปราบปรามการทุจริต ตนเห็นด้วยเพราะบ้านเรามีปัญหามันก็ต้องทำ คือหลักการทุกคนคงไม่ปฏิเสธ ว่าร่างฉบับนี้เน้นเรื่องดังกล่าว แต่คงต้องพูดในเรื่องรายละเอียดมากกว่า ทุกวันนี้หลักการคงไม่มีใครว่าอะไรที่จะให้มีการเลือกตั้งหรือเรื่องอื่นๆ ที่จะนำสู่การปฎิบัติเพราะถึงอย่างไรรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าจะปฏิรูป มันต้องอยู่ที่คนนำไปใช้ ทัศนคติ การยอมรับ องค์ประกอบมันอยู่ตรงนั้น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแง่การปฏิบัติเราอยากให้ตรงไปตรงมาอย่าลูบหน้าปะจมูก พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ใช่แน่นอนต้องตามนี้แต่อย่าลืมว่าตั้งแต่ คสช.เข้ามามันมีเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 57 แล้วอะไรที่มีเรื่องจำเป็นต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญต้องนำไปสู่ตรงนั้นต้องเข้าใจ แต่ถ้ามองถึงภาวะปกติแล้ว เราพัฒนาไปเรื่อยๆ ส่วนตัวจะมองประเด็นนั้นอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องมองว่าก่อน 22 พฤษภาคม ที่อุตส่าห์เข้ามาทำกัน พอเกิดปัญหาอะไร ยกตัวอย่างเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก จริงๆ แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญเขาเขียนว่าให้ ส.ส.เลือกกันเอง แต่มันเคยมีประเด็นที่ไปรบกวนเบื้องบน แล้วทำไมไม่แก้ ก็พยายามจะแก้ซึ่งหลักมันได้ ตนคิดว่าทุกคนก็เห็นด้วยแต่ที่คุยๆ กันคงเป็นเรื่องรายละเอียดมากกว่า ว่าจะยอมรับกันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรื่องรัฐธรรมนูญยังเป็นเพียงร่างยังรับฟังกันได้อีก ท้ายสุด พูดเสมอว่าความศรัทธาและความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีจะมีส่วนผลักดันให้ประชาชนยอมรับหรือไม่ ถึงเขียนดีอย่างไรมันไม่ยอมรับก็ไม่ยอมรับ แต่ตนไม่ได้สนใจในแง่ที่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ แต่ส่วนตัวตั้งใจที่จะบอกประชาชนว่ารัฐธรรมนูญเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา ถ้าท่านช่วยเชื่อใจพวกเราเชื่อใจ คสช.ก็ต้องยอมให้สิ่งเหล่านี้มันออกมา แต่ถ้าท่านไม่ศรัทธา พูดอย่างไรก็ไม่เลือก ไม่ผ่านให้อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังสร้างความเข้าใจ ส่วนกลุ่มที่โต้แย้งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ควรพูดให้ชัด อย่าพูดรวมแล้วจะไม่เข้าใจ วรรคไหนมีปัญหาพูดออกมาเป็นเรื่องๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image