ทดลองวิธีใหม่ หาทาง ‘รักษา’ เอดส์

ทีมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จาก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหราชอาณาจักร ประสบความคืบหน้าที่น่าสนใจอย่างมากในการทดลองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อรักษาโรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อหนึ่งในผู้เข้ารับการทดลองไม่ปรากฏวี่แววของเชื้อไวรัสอีก หลังจากเข้ารับการรักษาด้วยกรรมวิธีแบบใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) ของประเทศอังกฤษ

วิธีการรักษาโรคเอดส์ใหม่นี้เป็นการผสมผสานวิธีมาตรฐานที่ใช้กันอยู่เดิม ซึ่งเป็นการให้ยาผสมที่เรียกว่า “แอนไทเรโทรไวรัล” เข้ากับการให้ยากระตุ้นเพื่อฟื้นการทำงานของเซลล์ที่ได้รับเชื้อขึ้นมาใหม่และวัคซีนที่จะทำหน้าที่เพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งจะทำหน้าที่ฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อ

“แอนไทเรโทรไวรัล ดรักส์” ที่เป็นวิธีการมาตรฐานในการรับมือกับเอดส์ในเวลานี้มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งไวรัสเอชไอวีไม่ให้ลุกลามขยายตัว แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายของผู้ป่วยได้ ทำให้จำเป็นต้องได้รับยาไปตลอดชีวิต การทดลองครั้งนี้มีขึ้นเพื่อหาวิธีการในการรักษาด้วยการกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกาย เพื่อไม่ให้กลับมาล้มป่วยอีกเมื่อหยุดยา โดยมีผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์จำนวน 50 รายเข้าร่วมในการทดลอง และจากการทดสอบหาปริมาณเชื้อในผู้ป่วยรายแรกที่เข้ารับการทดลองจนครบกระบวนการสมบูรณ์ ไม่พบร่องรอยของเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือดของผู้ป่วยรายนี้อีก

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังไม่ถือว่ากรณีดังกล่าวเป็นความสำเร็จในการกำจัดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าในตอนนี้จะถือว่าให้ผลที่น่าทึ่งก็ตามที เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีผู้ป่วยที่เชื่อกันว่าหายขาดแล้ว แต่กลับมาป่วยใหม่ได้อีก นอกจากนั้นการที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยา “แอนไทเรโทรไวรัล” เข้าไปทำให้ทีมวิจัยไม่แน่ใจว่าเชื้อถูกกำจัดหมดไปแล้วจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายมาร์ค แซมมวลส์ กรรมการอำนวยการฝ่ายสำนักงานวิจัยของเอ็นเอชเอส ระบุว่า การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองเพื่อรักษาเอดส์ให้หายขาดอย่างจริงจังและผลที่ได้ก็ถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าทึ่งมากทีเดียว

Advertisement

ไวรัสเอชไอวี สามารถซ่อนตัวเองจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่ภายในเซลล์ที่ยุติการทำหน้าที่ชั่วคราวหรือ “ดอร์แมนท์เซลล์” ทำให้การตรวจสอบที่แม้จะทันสมัยที่สุดก็ไม่สามารถตรวจพบมันได้ ดังนั้น เชื้อดังกล่าวจึงสามารถต่อต้านกระบวนการรักษาได้ วิธีใหม่ที่ใช้กันนี้เป็นความพยายามเพื่อล่อให้ไวรัสแสดงตัวออกมาอีกครั้งจากจุดที่ซ่อนตัวอยู่แล้วกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ตรวจจับและฆ่าเชื้อดังกล่าวไป ซึ่งเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่ากระบวนการ “คิกแอนด์คิล”

การชี้ขาดว่าผู้ป่วยรายหนึ่งหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากเคยมีกรณีตัวอย่างของเด็กทารกหญิงรายหนึ่งในรัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐอเมริกาที่ติดเชื้อจากผู้เป็นแม่และแพทย์จัดการให้ยาแอนไทเรโทรไวรัลต่อเด็กภายใน 30 ชั่วโมงหลังคลอดในปี 2010 การให้ยาดังกล่าวทำต่อเนื่องจนกระทั่งผู้เป็นแม่ขาดการติดต่อกับโรงพยาบาล จนเมื่อติดต่อกลับมาอีกครั้งใน 5 เดือนถัดมา แพทย์ตรวจไม่พบเชื้อในตัวเด็กอีก จนคาดหวังว่าเด็กจะหายขาดจากโรค เมื่อได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นมือ

แต่กลับเป็นว่าเด็กหญิงรายนั้นกลับมาป่วยอีกครั้งในอีก 2 ปีต่อมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image