นาซาพบ ‘ลูกไฟ’ ลึกลับ เผยโฉมทุกๆ 8.5 ปี

ภาพ- NASA/ESA/STScI

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าได้ตรวจสอบพบ ลูกไฟ ขนาดมหึมาเคลื่อนที่ฝ่าอวกาศด้วยความเร็วสูงบริเวณใกล้กับดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายดวงหนึ่งห่างออกไป 1,200 ปีแสงจากโลก นักวิทยาศาสตร์นาซายอมรับว่าที่มาของลูกไฟขนาดใหญ่ดังกล่าวนี้ยังเป็นปริศนาอยู่จนถึงขณะนี้

ลูกไฟพลาสมา (สสารที่อยู่ในสถานะก๊าซ) ที่แต่ละลูกมีขนาดเป็นสองเท่าของดาวอังคาร และมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ถึง 2 เท่าตัว ถูกตรวจสอบพบขณะเคลื่อนที่ผ่านอวกาศด้วยความเร็วสูงมาก ชนิดที่สามารถเคลื่อนที่จากโลกไปยังดวงจันทร์ (ระยะทาง 384,472 กิโลเมตร) ได้ภายในเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ของนาซาประจำห้องปฏิบัติการ เจ็ท โพรพัลชั่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชี้ว่าลูกไฟเหล่านี้จะปรากฏออกมาในทุกๆ 8.5 ปี ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 4 ศตวรรษที่ผ่านมา

ลูกไฟที่เป็นดวงก๊าซถูกสังเกตพบบริเวณใกล้กับดาวแดงยักษ์ชื่อ “วีไฮเดร” ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 1,200 ปีแสง ดาวแดงยักษ์ เป็นดาวฤกษ์ที่กำลังพัฒนาการอยู่ในวาระสุดท้ายซึ่งเกือบหมดพลังแล้วและตัวดวงดาวเริ่มต้นบวมและขยายตัวออก กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ตรวจสอบพบลูกไฟเหล่านี้ขณะที่เคลื่อนตัวผ่านด้านหน้าของ วีไฮเดร (เมื่อมองจากโลก) ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลที่ได้จากฮับเบิลล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำเจ็ท โพรพัลชั่น ชี้ว่าลูกไฟเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวดาววีไฮเดร แต่จากผลการศึกษาครั้งล่าสุดเป็นไปได้ว่าลูกไฟเหล่านี้อาจมีที่มาจากดาวฤกษ์อีกดวงที่เป็นดาวคู่กับวีไฮเดร แต่ไม่เคยมีการพบเห็นกันมาก่อน

ถ้อยแถลงของเจ็ท โพรพัลชั่นระบุว่า ตามทฤษฎีใหม่ที่ได้จากการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ ดาวคู่ของวีไฮเดรดังกล่าวอาจมีวงโคจรเป็นรูปวงรีที่ทำให้ดาวคู่ดวงนี้โคจรเข้ามาในระยะใกล้กับบรรยากาศของวีไฮเดรในทุกๆ 8.5 ปี เมื่อโคจรผ่านเข้ามาในบรรยากาศรอบนอกของวีไฮเดรก็สามารถกวาดเอาวัสดุต่างๆ จากชั้นบรรยากาศด้านนอกสุดไปด้วย วัสดุต่างๆ เหล่านี้จะไปลงเอยแผ่เป็นรูปจานอยู่โดยรอบดาวคู่ดังกล่าวและกลายเป็นที่มาของลูกไฟมหึมาเหล่านี้นั่นเอง

Advertisement

ถ้าหากนักสามารถรู้ได้แน่ชัดว่า ลูกไฟเหล่านี้มีที่มาที่แน่นอนจากที่ไหนกันแน่ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ประหลาดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณกลุ่มเมฆที่เกิดขึ้นโดยรอบดาวฤกษ์ที่กำลังจะถึงวาระสุดท้ายทั้งหลายซึ่งบางกรณีก็เป็นเรื่องที่ยากอธิบายได้เช่นเดียวกัน

ราฟเวนดรา ซาไฮ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ของเจ็ท โพรพัลชั่น นาซาเคยศึกษาข้อมูลจากการเฝ้าสังเกตวีไฮเดรระหว่างปี 2002 เรื่อยมาจนถึงปี 2004 และในปี 2011 กับปี 2013 แต่ครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัยสามารถเห็นกระบวนการขณะกำลังเกิดลูกไฟ จนได้ทฤษฎีที่ว่าสภาวะบวมพองและกลายเป็นก๊าซซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายของชีวิตดวงดาวช่วยให้เกิดปรากฏการณ์รูปร่างประหลาดทั้งหลายที่พบเห็นในเนบิวลาดาวเคราะห์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นลูกไฟเหมือนในกรณีนี้และเป็นกลุ่มก๊าซที่พันกันเป็นปมเชือกที่พบเห็นกันก่อนหน้านี้

ซาไฮเชื่อว่าทฤษฎีของการเกิดลูกไฟจากจานวัสดุรอบดาวคู่ซึ่งยังไม่มีใครพบนั้นเป็นคำอธิบายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image