ปากท้องภายใต้เผด็จการ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

หัวหน้าคณะรัฐประหารเคยพูดหลายครั้งด้วยสำนวนต่างๆ กันว่า ต้องยอมสละประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ หรือทำให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง หรือทำให้การปฏิรูปลุล่วงไปได้ด้วยดี

อันที่จริง นี่เป็นความคิดเก่าแก่พอสมควร สืบเนื่องมาจากแนวคิดในช่วงร้อนแรงที่สุดของสงครามเย็น คือราวทศวรรษ 1960-1970 นั่นคือเราควรระงับประชาธิปไตยไว้ชั่วคราว จนกว่าประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปถึงระดับหนึ่งแล้ว หรือต้นทุนของการพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาคือสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

ทำไมถึงต้องระงับประชาธิปไตย คำตอบง่ายๆ ก็คือสิทธิมนุษยชนในประเทศด้อยพัฒนา เป็นอุปสรรคขัดขวางความเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น แทนที่จะเอาทรัพยากรจำนวนน้อยไปลงทุนในสิ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เช่น เส้นทางคมนาคม หรือความมีระเบียบทางสังคม นักการเมืองประชาธิปไตยกลับนำเอาไปทำโครงการที่เรียกคะแนนเสียง แต่ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง เช่น จำนำข้าว เป็นต้น

ไม่แต่เพียงมีข้อเสนอเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่นักวิชาการที่เชื่ออย่างนี้ยังเก็บรวบรวมข้อมูลจากประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย (โดยเฉพาะในละตินอเมริกา) เพื่อพิสูจน์ว่า เศรษฐกิจของประเทศเผด็จการเติบโตเร็วกว่าประเทศประชาธิปไตย

Advertisement

ทั้งหมดนี้คือที่มาของ วิถีเอเชียŽ, ประชาธิปไตยทำงานได้เฉพาะในประเทศที่ประชาชนมีรายได้ในเกณฑ์สูงเท่านั้นŽ และมาลงเอยที่แมวสีอะไรก็จับหนูได้เหมือนกัน ว่ากันไปแล้ว เสน่ห์Ž ของเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ซูฮาร์โต, มาร์กอส, มหาธีร์, ปักจุงฮี, ก๊กมินตั๋งบนเกาะไต้หวัน) ยังมีมนตราในหมู่คนบางจำพวกมาถึงทุกวันนี้ ก็เพราะแนวคิดซึ่งมีอายุมาเกือบสองชั่วอายุคนแล้วนี้เอง

ฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่หัวหน้าคณะรัฐประ หารจะพูดอะไรจากแนวคิดโบร่ำโบราณขนาดนี้ เพราะนอกจากเขาแล้ว ยังมีคนอื่นอีกมาก ทั้งคนธรรมดาและนักวิชาการ ทั้งคนไทยและคนอื่นๆ ในโลกที่ยังพูดอย่างนี้ หรือบางคนที่ยังคิดอย่างนี้จริงๆ

อย่างไรก็ตาม ตกมาถึงทศวรรษ 1980 แนวคิดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นราคาที่ต้องจ่ายหากประเทศด้อยพัฒนาต้องการความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ก็ถูกปฏิเสธในแวดวงนักพัฒนา และในแวดวงวิชาการ ซึ่งผมอยากอ้างถึงเพราะมันปฏิเสธข้อสรุปง่ายๆ ของนักวิชาการเบื้องหลังคณะรัฐประหารได้ดี นักวิชาการคนหนึ่งเก็บข้อมูลจาก 72 ประเทศ ระหว่าง 1959-68 แล้วพบว่า ไม่จำเป็นว่าประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการจะส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศประชาธิปไตย นักวิชาการอีกคนหนึ่ง พบจากการศึกษาเปรียบเทียบว่า ที่คิดว่าระบอบเผด็จการย่อมมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าประเทศประชาธิปไตยนั้นไม่จริง รัฐบาลในระบบพรรคเดียว และรัฐบาลเผด็จการทหารมักมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลเผด็จการก็ดำเนินนโยบายเพื่อได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (หรือในกรณีประเทศไทย อาจเรียกเสียงสนับสนุนเฉพาะจากกลุ่มที่ได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะมีเสียงดังทางการเมืองมากกว่ากลุ่มที่เสียเปรียบ)

Advertisement

นอกจากนี้งานศึกษารุ่นที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง หรือไม่มีเลยนั้น ส่วนใหญ่แล้วเกาะอยู่กับละตินอเมริกา แต่การศึกษาเก็บข้อมูลที่คัดค้านข้อสรุปนี้ในทศวรรษ 1980 ขยายไปรวมแอฟริกาด้วย ซึ่งให้ภาพที่ชัดเจนกว่าจนแทบจะตราเป็นกฎได้เลยว่า ระบอบเผด็จการมีผลร้ายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความขัดแย้งของข้อสรุปทางวิชาการเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการให้คำนิยามสองสิ่งที่แตกต่างกัน หนึ่งคือประชาธิปไตย และสองคือการพัฒนา

อันที่จริงแล้ว ที่เราเรียกว่าเผด็จการนั้นมีหลายความเข้มข้นจนอาจเรียกได้ว่าเป็นคนละระบอบปกครอง (และในทางตรงกันข้าม ประชาธิปไตยก็เช่นกัน) สิงคโปร์, ไต้หวันภายใต้เจียงไคเช็ค, และเกาหลีใต้ภายใต้กองทัพ ล้วนเป็นเผด็จการทั้งนั้น แต่ไม่ใช่เผด็จการเหมือนระบอบ
อีดี้อามีน และแตกต่างจากเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสของไทย หรือซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย (ดังเช่นนักวิชาการญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยพูดว่า เผด็จการทหารเกาหลีใต้แตกต่างจากเผด็จการทหารไทยอย่างยิ่งตรงที่ไม่เล่นพวกเลย รัฐลำเอียงจริง แต่ลำเอียงเข้าหาเอกชนที่มีกึ๋นในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ในขณะที่รัฐเผด็จการไทยลำเอียงเข้าหาคนที่จ่ายค่าต๋ง และคนที่เป็นเส้นสายของตน นายทุนไทยจึงมักไม่มีกึ๋นในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซ้ำโน้มเอียงที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่เท่าเทียมตลอดไปด้วย แม้เมื่อผ่านจากระบอบเผด็จการกองทัพเข้าสู่ระบอบเลือกตั้งแล้ว)

ในทางตรงกันข้าม ผลสำเร็จของการพัฒนาก็ไม่ใช่สิ่งที่อาจวัดกันได้ง่ายๆ ที่จริงแล้วมันหมายถึงอะไรแน่ ก็ยังเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ด้วย ในบรรดาผู้ที่สรุปว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมเกิดได้ดีกว่าแก่ประเทศด้อยพัฒนาภายใต้ระบอบอำนาจนิยม มักใช้ผลผลิตมวลรวมเป็นเครื่องมือในการวัดความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวยังไม่ใช่การพัฒนาที่แท้จริง จำเป็นต้องมีอีกด้านหนึ่งด้วยคือประชาชนต้องเข้าถึงมาตรฐานทางด้านสวัสดิภาพที่จำเป็นด้วย เช่น มีอาหารบริโภคอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ เข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาล มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ฯลฯ (ซึ่งสหประชาชาติใช้เป็นบรรทัดฐานการพัฒนาในปัจจุบัน) เรามักเห็นการเติบโตของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม แต่ความเติบโตของมาตรฐานสวัสดิภาพประชาชนอยู่คงที่ หรือโตขึ้นช้ามากอย่างเทียบไม่ได้กับผลิตภัณฑ์มวลรวม

ดังนั้น นักวิชาการบางคนเช่น S. P. Huntington จึงเสนอว่าเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งกว่าระบอบปกครองคือ (สิ่งที่ขอเรียกว่า) รัฐเข้มแข็ง ซึ่งสามารถอำนวยระเบียบ กฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม และบังคับใช้กฎหมายและนโยบายได้อย่างมีประสิทธิผล นี่ต่างหากที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริงได้ (Political Order in Changing Societies แนวคิดเช่นนี้สืบต่อมาในงานของ Francis Fukuyama เช่น Political Order and Political Decay) แต่ไม่จำเป็นว่ารัฐเข้มแข็งต้องเกิดภายใต้ระบอบเผด็จการเท่านั้น อย่างที่นักคิดฝ่ายทหารของไทยชอบย้ำ รัฐเผด็จการทหารของไทยในทุกสมัย ไม่เคยเข้มแข็งเท่ารัฐในอเมริกาเหนือหรือรัฐในยุโรปตะวันตก ซึ่งล้วนเป็นรัฐประชาธิปไตย เพราะบังคับใช้กฎหมายได้ไม่ทั่วถึง และบังคับใช้นโยบายของตนอย่างวิ่นๆ แหว่งๆ อำนวยให้เกิดระเบียบไม่ได้ รักษากฎเกณฑ์อย่างเป็นธรรมก็ไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบพูดกันมากในหมู่นักวิชาการที่สนับสนุนเผด็จการก็คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เชื่อกันในหมู่คนเหล่านี้ว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุน จะลงทุนได้ก็ต้องสะสมทุน จะสะสมทุนได้ก็ต้องมีบางคนที่มีรายได้มากกว่าคนทั่วไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การกระจายรายได้และทรัพย์สินที่ไม่เป็นธรรมนั่นแหละ คือปัจจัยที่ขาดไม่ได้ของการพัฒนา

นักพัฒนารุ่นเผด็จการสฤษดิ์มักอ้างว่า ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสภาพชั่วคราว เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น ก็จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และทำให้รายได้ของคนทั่วไปสูงขึ้นด้วย แต่ผลงานวิจัยของนักวิชาการบอกว่า ไม่มีพยานหลักฐานในกรณีประเทศใดทั้งสิ้นว่า อภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยของสังคมใด พร้อมจะเสียสละรายได้และทรัพย์สินของตนโดยดี เมื่อสะสมทรัพย์ได้จำนวนหนึ่งแล้ว (การทำสาธารณกุศลเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งให้ผลตอบแทนด้านการเมืองและธุรกิจสูง) ยิ่งกว่านี้ในสภาพโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน นายทุนย่อมขนเงินของตนไปลงทุนในประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า ไม่ใช่ยอมขยายงานในประเทศตนเองและจ้างงานในราคาแพงขึ้น

ตรงกันข้ามกับข้อสรุปข้างต้น มีประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพร้อมกันไปกับการจัดให้มีการกระจายรายได้และทรัพย์สินอีกมากในโลกนี้ เช่น บราซิล เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น ถ้าไทยคิดเรื่องกระจายรายได้และทรัพย์สินมาแต่เริ่มการพัฒนา เราก็คงกระอักเลือดในวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และปัจจุบันน้อยลง เพราะอย่างน้อยก็มีตลาดภายในที่พอจะพึ่งพาได้บ้าง

ในปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นคำหยาบที่ไม่มีใครยอมรับเสียแล้ว จึงไม่มีเผด็จการที่ไหนพูดอีกว่าจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพื่อพัฒนาประเทศ ต่างก็โฆษณาตนเองว่า จะขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่เราต้องหันไปดูนโยบายอื่นๆ ของเผด็จการว่า ตั้งใจจะลดความเหลื่อมล้ำหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำกันแน่ เช่น การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ไม่ใช่มีแต่ในเมืองไทยภายใต้ คสช.เท่านั้น ทำมาแล้วทั้งในกัมพูชา ลาว และพม่า) ได้กีดกันเจ้าของประเทศโดยอาศัยอำนาจเผด็จการ ออกจากทรัพยากรที่ตนเคยใช้ประโยชน์ เพื่อนำทรัพยากรนั้นไปให้แก่นายทุนจำนวนน้อยใช่หรือไม่ ลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อประโยชน์ของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป โดยคนส่วนใหญ่ที่มีฐานะต่ำกว่านั้นไม่ได้ประโยชน์อะไร ซ้ำยังถูกแย่งทรัพยากรที่ตนเคยใช้ประโยชน์อยู่ไปเสียด้วย ในขณะที่โครงการซึ่งเป็นการกระจายรายได้และทรัพย์สิน เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, รถเมล์ฟรี, รถไฟฟรี, เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ, ประกันราคาพืชผล ฯลฯ กลับถูกรัฐบาลเผด็จการล้มเลิก หรือหาทางล้มเลิกไปด้วยวิธีต่างๆ

หลายสิบปีมาแล้ว ก่อนหน้าที่คำว่าโลกาภิ
วัตน์ยังไม่เกิดทั้งในภาษาไทยและฝรั่ง (ปรากฏ การณ์อาจเกิดขึ้นนานแล้ว แต่สำนึกยังไม่เกิด) เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า ขึ้นชื่อว่านายทุนแล้ว ไม่ต้องมีชาติหรอก เขายกตัวอย่างธนาคารใหญ่ของไทยว่าที่กลายเป็นธนาคารใหญ่ได้ ก็เพราะไม่ขังตัวเองไว้ในกรอบของชาติไทยนั่นเอง

บัดนี้เมื่อโลกาภิวัตน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกของผู้คนแล้ว นายทุนก็ยังไม่มีชาติเหมือนเดิม แต่บัดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะนายทุนเท่านั้น คนชั้นกลางระดับบนๆ หน่อย ก็ไม่มีชาติเหมือนกัน ส่งลูกไปเรียนอเมริกาหรืออังกฤษ เพื่อให้ลูกไม่ต้องท่องค่านิยม 12 ประการ มีความสามารถคิดเองเป็น และหากินในตลาดชนิดใหม่ๆ ซึ่งอยู่นอกเมืองไทยได้ ในขณะเดียวกัน กลับยินดีที่โรงเรียนไทยบังคับให้เด็กไทยท่องค่านิยม 12 ประการ สอนให้เคารพเชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ ดังนั้น เมืองไทยซึ่งเขาตั้งบ้านเรือนอยู่ จึงจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่อภิสิทธิ์ของเขาตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน
เมืองไทยจึงเหมือนบ้านจัดสรร มียามเฝ้าประตู, มีสโมสร, มีถนนเรียบ, มีต้นไม้ร่มครึ้ม, มีสระว่ายน้ำและสนามกอล์ฟ ฯลฯ เพื่อจะใช้ชีวิตในยามเลิกงาน แต่งานซึ่งเป็นทางมาของรายได้ เกียรติยศ และอำนาจ อยู่ข้างนอก นอกบ้านจัดสรร และโดยนัยคือนอกประเทศไทยด้วย ไม่โดยตรงก็โดยความสัมพันธ์เชื่อมโยง (เช่น เป็นตลาดให้แก่สินค้าของตน)

ข้างนอกก็ไม่ใช่ชาติ และบ้านจัดสรรก็ไม่ใช่ชาติ เพราะชาติคือความสัมพันธ์ที่สมมุติขึ้นว่าเชื่อมโยงเป็นพิเศษกับผู้คนอื่นๆ ร่วมชาติ คนชั้นกลางระดับบนไม่ได้รู้สึกสัมพันธ์เป็นพิเศษกับคนในบ้านจัดสรร หรือคนนอกบ้านจัดสรร
(อาศัยข้อมูลจากรายงานของสถาบัน Chr. Michelsen เรื่อง Human Rights and Development ของ Siri Gloppen และ Lise Rakner)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image