สธ.ร่วมสำนักการแพทย์ กทม. พร้อมดูแลจิตใจประชาชน กระจายทีมแพทย์ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ด้านวิกฤตสุขภาพจิต ประชุมติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้สถานบริการในสังกัดทั่วประเทศ ยังคงเน้นความสำคัญของการจัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนทั้งด้านร่างกายและจิตใจในช่วงระยะวิกฤตและฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรกระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม ว่า นอกจากตั้งทีมรักษาพยาบาลเคลื่อนที่แก่ประชาชนแล้ว ในเรื่องด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมเยียวยาด้านจิตใจ จำนวน 8 ทีม จากสถาบันกัลยาราชนครินทร์ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยประถัมท์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันราชานุกุล และสถาบันสมเด็จเจ้าพระยา ให้บริการประชาชน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้ให้บริการประชาชนรวม 406 คน ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่น ภาวะหายใจเร็วและโศกเศร้า ทั้งนี้ หลังให้การดูแลทุกคนอาการดีขึ้น

“สำหรับในส่วนภูมิภาคมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการทุกจังหวัด โดยมีทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ 1,105 ทีม ทีมเยียวยาด้านจิตใจ 144 ทีม โดยที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคทางกายเข้ารับบริการ 221 คน ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังคงหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนที่เข้าร่วมพิธีอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนที่จะมาเข้าร่วมพิธี เตรียมร่างกายให้พร้อม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนและฝูงคนจำนวนมาก เตรียมหมวกและร่มกันแดด น้ำดื่ม อาหาร ยาดมและยาประจำตัว อยู่ในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก หากอาการไม่ปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ที่หน่วยปฐมพยาบาลทันที” รองปลัด สธ.กล่าว

ภาพสำนักการแพทย์ กทม.
ภาพสำนักการแพทย์ กทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ ที่ห้องปฏิบัติการวอร์รูม ชั้น 2 อาคารศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) เพื่อวางแผน ติดตาม กำกับดูแล และสนับสนุนการให้บริการด้านการแพทย์ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ รวม 50 แห่ง ประกอบด้วย

1. สังกัดโรงเรียนแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
2. สังกัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลตำรวจ
3. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมสุขภาพจิต สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน(สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข) กรมการแพทย์ ประกอบด้วยโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนฯ โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ สถาบันโรคทรวงอก สถาบันประสาทวิทยา และกลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์
4. สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่สำนักการแพทย์ ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงฯ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลเวชการุญรัศมิ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ศูนย์เอราวัณและ สำนักอนามัย
5. สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ โรงพยาบาลนครธน โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค โรงพยาบาลธนบุรี 2 โรงพยาบาลเซ็นทรัล เยนเนอรัล โรงพยาบาลวิภาราม โรงพยาบาลวิภาราม ปากเกร็ด โรงพยาบาลเจ้าพระยา โรงพยาบาลสายไหม โรงพยาบาลเสรีรักษ์ โรงพยาบาลบางโพ โรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลสินแพทย์ โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา โรงพยาบาลสุขุมวิท โรงพยาบาลพระราม 9 โรงพยาบาลธนบุรี 1 และโรงพยาบาลมหาชัย
6. องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้แก่ มูลนิธิป่อเต็กตึ้งและมูลนิธิร่วมกตัญญู

Advertisement
ภาพ สำนักการแพทย์ กทม.
ภาพ สำนักการแพทย์ กทม.

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้รับบริการทางการแพทย์ แยกตามประเภทอาการ เป็นลม 523 ราย ตะคริว 60 ราย อุบัติเหตุ 8 ราย อื่นๆ 162 ราย รวมเป็น 753 ราย มีการนำส่งโรงพยาบาล 24 ราย  แยกตามประเภทการปฐมพยาบาล แจกยาดม 41,308 ราย ทำแผล 40 ราย ขอยา 514 ราย อื่นๆ 1,001 ราย รวมเป็น 42,864 ราย

ภาพสำนักการแพทย์กทม.
ภาพสำนักการแพทย์กทม.
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image