สธ.ตั้ง9จุดปฐมพยาบาลงานพระราชพิธีพระบรมศพ ดูแล2กลุ่มเสี่ยงกระทบจิตใจสูง

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน ด้านวิกฤตสุขภาพจิต กล่าวภายหลังการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนทั้งด้านร่างกายและจิตใจในช่วงระยะวิกฤตและฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรก ว่า สำหรับการปฏิบัติงานวันที่ 15 ตุลาคม 2559 มีผลการปฏิบัติงานดังนี้ 1.ในส่วนกลางได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย กองทัพ ตำรวจ และมูลนิธิ จัดจุดบริการปฐมพยาบาลและรถพยาบาลฉุกเฉิน 9 จุด ได้แก่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สนามหลวงฝั่งเชิงสะพานปิ่นเกล้า สนามหลวงที่กองอำนวยการกรุงเทพมหานคร ประตูวิเศษชัยศรี ท่าช้าง ข้างกระทรวงกลาโหม ศาลหลักเมือง สนามหลวงฝั่งพระบรมมหาราชวัง และศาลาสหทัยสมาคม

โดยมีประชาชนที่เข้าร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพเข้ารับบริการ 7,682 คน ร้อยละ 99 ขอรับยาดม แอมโมเนีย วัดความดันโลหิต ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ทำแผล รับยา ที่เหลือเป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีผื่นคัน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลแล้วอาการดีขึ้น มีส่งต่อโรงพยาบาล 8 คน ด้วยอาการความดันโลหิตสูง แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย โรคลมชัก ถูกสัตว์กัด เป็นต้น

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมเยียวยาด้านจิตใจ 8 ทีม เพื่อดูแลจิตใจประชาชน โดยให้บริการปฐมพยาบาลทางใจ 339 คน ตรวจรักษาและให้ยา 4 คน ให้คำปรึกษา/ให้การสนับสนุนทางใจ/ฝึกการหายใจ 54 คน หลังให้คำปรึกษาดูแลทุกคนมีอาการดีขึ้น 2.ในส่วนภูมิภาค มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการทุกจังหวัด ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ 928 ทีม ทีมเยียวยาด้านจิตใจ 80 ทีม โดยมีผู้ป่วยโรคทางกายเข้ารับบริการ 18 คน

นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า จากการติดตามสุขภาพจิตของประชาชนที่พบว่ามีปัญหาสภาพจิตใจเฉลี่ยร้อยละ 0.05 ซึ่งจากนี้จะต้องมีการติดตามต่อเนื่องโดยเฉพาะภายในช่วง 2 สัปดาห์นี้จะมีผลกระทบทางด้านจิตใจมาก อาจจะพบปรากฏการณ์ความเศร้าเสียใจมากกว่าเดิม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่มคือ 1.กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่ต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วยผู้ที่ถวายงานใกล้ชิด ผู้ที่อยู่ในหน่วยงานตามโครงการพระราชดำริต่างๆ รวมถึงผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีประวัติมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตมาก่อน 2.กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง อายุตั้งแต่ 40-60 ปี กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อยอายุกว่า 40 ปีลงมา ทั้งหมดนี้กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิตจะมีทีมให้การดูแลอย่างเต็มที่ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด

Advertisement

“ความทุกข์ ความเสียใจ การร้องไห้ การซึมเศร้าล้วนเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติที่แสดงออกต่อความสูญเสียพ่อหลวงของแผ่นดินซึ่งเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวง ช่วงนี้อย่าปิดกั้นการแสดงออก รวมกลุ่มกันทำความดี สวดมนต์ ร่วมกันทำความดีด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เช่น การบริจาคเลือด บริจาคร่างกาย เป็นต้น หน่วยงาน ชุมชนต่างๆ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมตั้งโต๊ะลงนามส่ง ลูกหลานที่มีผู้สูงอายุในบ้านต้องคอยพูดคุย พูดปลอบ แต่ไม่ปิดกั้นการแสดงความเสียใจหรือเบี่ยงเบนความสนใจของผู้สูงอายุ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว และว่า สำหรับผู้ที่รู้สึกเสียใจมาก ร้องไห้ตลอดเวลา เครียดมาก นอนไม่หลับ เป็นต้น ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง ฟรี หรือปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image