กกต.ชง4 ข้อให้รบ.รณรงค์รับ/ไม่รับต้องบริสุทธิ์ใจ -เลิกพิมพ์รธน.ส่งทุกบ้าน

“สมชัย” เผยกกต.เสนอ 4 ข้อให้ “วิษณุ” พิจารณาออกพ.ร.บ.ดูแลความเรียบร้อยประชามติ ย้ำใช้หลักเกณฑ์ลงโทษคล้ายเลือกตั้ง ชงลดจำนวนพิมพ์รูปเล่มร่างรธน.ต่ำว่า 16.7 ล้านเล่ม ประหยัดถึง 500 ล้าน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการบริหารงานการเลือกตั้ง กล่าวก่อนการประชุมหารือเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนของ กกต.ได้เตรียมเสนอที่ประชุมให้พิจารณาใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.หลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องประกาศผลประชามติ ว่าจะยึดเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ รวมถึงหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 จะพิจารณาว่าใครจะต้องดำเนินการเริ่มต้นหรือใครจะเป็นผู้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ 2.เรื่องการกระทำผิดประชามติ เนื่องจากประกาศของ กกต.ไม่ได้กำหนดโทษในส่วนนี้ กกต.จึงจะเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดูแลความเรียบร้อยประชามติ ซึ่งการกำหนดโทษจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดการเลือกตั้งคือห้ามขนคนมาลงคะแนน ห้ามจัดเลี้ยงหรือขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.ดีหรือไม่หรือจะออกในรูปแบบอื่น อย่างไรก็ตาม ทางกกต.ได้ร่าง พ.ร.บ.ไว้เรียบร้อยแล้ว หากนายวิษณุ เครืองาม เห็นด้วยก็สามารถส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันที 3.เรื่องการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 16.7 ล้านฉบับที่จะต้องส่งให้กับทุกครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียง จากเดิมที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่าต้องส่งอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด กกต.ก็จะเสนอต่อที่ประชุมว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงหลักการนี้ได้หรือไม่ โดยจะส่งไปยังศูนย์กลางชุมชนหรือศูนย์ราชการที่สำคัญๆ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณหรือรวดเร็วมากขึ้น และ 4.งบประมาณที่ดำเนินการขณะนี้ กกต.ได้แยกตัวเลขเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1.งบประมาณที่ใช้ดำเนินการในการทำประชามติ 2.4 พันล้านบาท 2.งบประมาณจัดพิมพ์และจัดส่งรูปเล่มร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 16.7 เล่มจำนวน 800 ล้านบาท 3.งบประมาณในส่วนที่ กกต.จะต้องจัดส่งรูปเล่มร่างรัฐธรรมนูญอีก 900 ล้านบาท รวม 4.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่กำหนดไว้สามารถเปลี่ยนแปลงให้ประหยัดขึ้นได้ประมาณ 500 ล้านบาท หากลดจำนวนการจัดพิมพ์รูปเล่มร่างฯ ลงได้จาก 16.7 ล้านบาท ทั้งนี้ วันกำหนดในการออกเสียงประชามติ กกต.คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

นายสมชัยกล่าวว่า ข้อกำหนดโทษในการกระทำผิดประชามติที่จะเสนอนี้จะเหมือนกฎหมายการเลือกตั้ง ไม่ต้องกังวลเพราะไม่ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร ส่วนการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ว่ากองทัพหรือฝ่ายการเมืองก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีความบริสุทธิ์ใจและมีเหตุมีผล ให้ความรู้ประชาชนถึงเนื้อหาสาระอย่างตรงไปตรงมา มีความรอบด้าน ครบถ้วน และต้องไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน ไม่เป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายการเมือง ไม่สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย

เมื่อถามว่า ที่มาฝ่ายการเมืองที่แสดงความเห็นให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.กระทำผิดประชามติหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ไม่เข้าข่าย ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นตามปกติ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image