ประวัติราชประเพณี”พระบรมศพ” จากยุค “สุโขทัย” ถึง “รัตนโกสินทร์”

ภาพจากเว็บไซต์กรมศิลปากร

หลักฐานที่กล่าวถึงการจัดพระราชพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดนั้น ปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของชาติไทย พระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีระกา พุทธศักราช 1888 พรรณนาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราช ว่า

“เมื่อนั้น จิงพระญาจักรพรรดิราชนั้น ธ ก็ทิพธรชงคต พิธรชะโลม

ด้วยกระแจะจวงจันทน์ แลจิงเอาผ้าขาวอันเนื้อละเอียดนั้น มาตราสังศพ

พระญาจักรพรรดิราชนั้น แล้วจึงเอาสำลีอันดีด้วยสะพัดได้แลร้อยคาบ

Advertisement

มาห่อชั้นหนึ่ง แล้วเอาผ้าขาวอันละเอียดมาห่อชั้น 1 เล่า แล้วเอาสำลี

อันละเอียดมาห่อเล่าดังนั้น นอกผ้าตราสังทั้งหลายเป็น 1000 ชั้น

คือว่าห่อผ้า 500 ชั้น แลสำลีอันอ่อนนั้นก็ได้ 500 ชั้น จิงรดด้วย

Advertisement

น้ำหอมอันอบแลได้ 100 คาบ แล้วเอาใส่ในโกศทองอันประดับ

นิคำถมอ แลรจนาด้วยวรรณลวดลายทั้งหลายอันละเอียดนักหนา

แล้วจิงยกศพไปสงสการด้วยแก่นจันทน์กฤษณาทั้งห้าแล้วบูชาด้วย

เข้าตอกดอกไม้ทั้งหลาย ครั้นว่าสงสการเสร็จแล้ว คนทั้งหลาย

จิงเก็บเอาธาตุพระญามหาจักรพรรดิราชนั้นไปประจุแลก่อพระเจดีย์

แทบทางพบแห่งกลางเมืองนั้น แต่ให้คนทั้งหลายไปไหว้นบบูชา…”

ล่วงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานการพระศพ กระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวเฉพาะลักษณะพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิงเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการจัดพิธีกรรม การสร้างพระเมรุมาศในสมัยอยุธยายิ่งใหญ่โอฬารมาก ปรากฏตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดารว่า พระเมรุมาศสูงถึง 2 เส้น มีปริมณฑลกว้างใหญ่ เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะสร้างพระเมรุทองอยู่ในพระเมรุใหญ่ กล่าวคือ

“ขนาดใหญ่ ขื่อ 7 วา 2 ศอก โดยสูง 2 เส้น 11 วาศอกคืบ

มียอด 5 ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณ

วิจิตรต่าง ๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง”

ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พรรณนาเฉพาะตอนถวายพระเพลิง แห่พระบรมอัฐิและพระอังคาร และงานพระเมรุมาศสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้เช่นกัน ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัดทอนอย่างมากในรัชกาลที่ 5 ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการกำหนดจัดการพระบรมศพของพระองค์ไว้ก่อนเสด็จสวรรคตหลายประการเป็นต้นว่า ให้สร้างพระเมรุมาศมีขนาดเล็กเพียงพอแก่ถวายพระเพลิงได้ มิให้สูงถึง 2 เส้นดังแต่กาลก่อน ครั้นรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกตัดทอนการปลูกสร้างพระเมรุมาศและการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระองค์ลงอีกหลายประการ งานพระเมรุจึงลดขนาดลงนับตั้งแต่นั้นมา

การสร้างพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง

การสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ สำหรับถวายพระเพลิงจะมี “ขนาดและรูปแบบ” งดงามวิจิตรแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่าง โดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานคติการสร้างว่า “พระเมรุ” ได้ชื่อมาแต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปราสาทน้อยที่สร้างขึ้นตามมุมทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปักราชวัติเป็นชั้น ๆ ลักษณะประดุจเขาพระเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางมีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกเลียนชื่อว่า พระเมรุ ภายหลังเมื่อทำย่อลง แม้ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลม ๆ ก็ยังคงเรียกเมรุด้วย คนไทยมีความเชื่อและยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติของพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามรายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาลและเขา สัตตบริภัณฑ์
ดังนั้นจึงนำคติความเชื่อจากไตรภูมิมาใช้ในการประกอบพิธีถวายพระเพลิงเพื่อให้ได้ ถึงภพแห่งความดีงาม อันมีแดนอยู่ที่เขาพระเมรุนั้นเอง สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะมีส่วนจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ ดังเช่น โบราณจะมีรูปสัตว์หิมพานต์ลักษณะหลากหลายนานาพันธุ์ บนหลังตั้งสังเค็ดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ เข้าขบวนแห่อัญเชิญพระศพ

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์กรมศิลปากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image