“บิ๊กต๊อก”แจง ต้องแยก”มาตรการทางสังคม” กับ”กฎหมู่” ลั่นไม่ได้สนับสนุนคนทำร้ายกัน(คลิป)

“บิ๊กต๊อก”ร่อนหนังสือถึงสถานทูต 7 ประเทศ ขอร้องให้เข้าใจความรู้สึกของคนไทย ช่วยควบคุมการกระทำผู้ทำผิดคดี 112 ที่อยู่ประเทศเหล่านั้น พร้อมระบุต้องแยก “มาตรการทางสังคม” กับ “กฎหมู่” เผย ไม่สนับสนุนให้คนทำร้ายร่างกายกัน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในหนังสือถึงเอกอัครราชทูตของประเทศนั้นๆแล้ว 7 ประเทศ โดยมีผู้ที่การกระทำที่มิบังควรและเคลื่อนไหวอยู่ 19 ราย ซึ่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยทั้ง 7 ประเทศก็ได้รับทราบ ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าว ตนเขียนไปในลักษณะของการขอร้องให้เข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชนคนไทย และมันเป็นวาระที่เขาควรจะเข้าใจประเทศเรา ซึ่งเราก็ไม่ได้ไปละเมิดอธิปไตยและกฎหมายของเขา แต่ความเป็นเพื่อน ความเป็นมหามิตรกัน ย่อมเข้าใจความรู้สึกของเพื่อน ว่าเพื่อนนั้นอยู่ในฐานะอะไร ณ ปัจจุบัน

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า และเราก็ได้บอกตำแหน่งที่พักให้เรียบร้อย ถึงแม้ท่านไม่มีกฎหมายที่จะดูแลเรื่องพวกนี้ในประเทศก็ควรที่จะได้กำกับดูแลควบคุมไม่ให้สิ่งเหล่านี้มากระทบจิตใจของคนในประเทศเรา มันไ่ม่บังควรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมันมากเกินไปที่เราจะทนอยู่ ซึ่งตนได้กราบเรียนเอกอัครราชทูตไปในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ตนได้เรียนประชาชนแล้วว่า เราไม่สามารถไปละเมิดอธิปไตยได้ เพราะเขาไม่มีกฎหมายดูแลเรื่องนี้ แต่เราควรจะพูดกันเข้าให้ใจเรื่องนี้ได้ ตนทำและตามคนกลุ่มนี้มาตลอด ซึ่งที่จริงแล้วเราทำหนังสือแบบนี้มาเป็นระยะ โดยพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการ ก็ได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และสรุปส่งไปเป็นระยะ แล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศไหน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้อธิบายคำว่ามาตรการทางสังคมที่ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนขอเรียนว่าคนที่กระทำความผิดในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเขาดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ตนพูด เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ผู้สื่อข่าวมีการสัมภาษณ์ตนนั้น ตนก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดว่าตำรวจเขาทำนั่นทำนี่ เพราะเจ้าหน้าที่เขาดูแลอยู่แล้ว อีกเรื่องคือ ตนจะไม่พูดเรื่องที่ไม่รู้จริงทั้งหมด เราไม่รู้หรอกเหตุการณ์ทั้งหมด เราอ่านตามสื่อ ตามเอกสาร เราก็ไม่ทราบว่าตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างไร แต่การปฏิบัติบังคับกฎหมาย เจ้าหน้าที่ในท้องที่เขาดูแลอยู่แล้ว

“คำว่า “มาตรการทางสังคม” มันคือมาตรการที่มาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย ผมเรียนว่าคนกลุ่มนี้บางครั้ง หรือแถบทุกครั้ง ที่เป็นกลุ่มที่มีทัศนคติ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องลักษณะนี้ ซึ่งแน่นอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเรารับพวกนี้ไม่ได้หรอก แต่ว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวมันไม่สามารถที่จะปรับทัศนคติได้ หลายเรื่องเราจะเห็นว่าการปรับแก้ทัศนคติของคนโดยใช้กฎหมายไม่สามารถกระทำได้ มาตรการสังคมที่ออกมานั้นมันจะเป็นมาตรการเสริมมาตรการที่ใช้ได้ด้วยซ้ำไป ดังนั้น คำว่า “มาตรการทางสังคม” กับการใช้ “กฎหมู่” มันไม่เหมือนกัน”รมว.ยุติธรรม กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในความคิดของตนถ้าใช้กฎหมู่นั่นคือกำลังใช้ในลักษณะการผิดกฎหมาย คือใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย เราจะใช้คำนี้ แต่ถ้ามาตราการทางสังคมแล้ว มันเป็นเรื่องที่บังคับใช้ให้คนทำตามระเบียบของสังคมและตามกฎหมาย ซึ่งต้องแยกคำนี้ให้ชัด บางคนเขาออกมา หรือหลายหน่วยงานที่มีการรณรงค์เรื่องการปรับทัศนคติ เขาจะมีภาคอกชน ภาคประชาสังคมมาทำเรื่องมาตรการทางสังคมควบคู่กันไปตลอดเวลา และตนยืนยันเลยว่า ไม่มีรัฐบาลไหน เจ้าหน้าที่รัฐคนไหน ที่จะบังคับใช้กฎหมายและประสบผลสำเร็จไปทุกเรื่อง มันไม่ใช่ มันต้องใช้มาตรการชุมชน มาตรการสังคม เข้ามาเกี่ยวข้องดำเนินการ ต้องทำความเข้าใจกับการใช้คำว่า “มาตราการทางสังคม” และ “การใช้กฎหมู่” ให้เข้าใจให้ชัด ถ้าคุณใช้กฎหมู่มันก็เหมือนกับการที่คุณไม่ทำตามกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งมันไม่ได้ถ้าเขาใช้ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องลงโทษคนที่ทำ เพราะคุณไม่มีสิทธิไปทำร้ายร่างกายคนอื่นเขา

Advertisement

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า มาตรการทางสังคมที่ตนพูดมันพูดภาพรวมมากกว่า เมื่อวานผู้สื่อข่าวไปเน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จ.ภูเก็ต แต่ตนตอบในภาพรวมว่ามาตรการทางสังคมเป็นเรื่องที่น่าจะนำมาใช้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตนพูดในลักษณะนี้ ไม่ใช่ไปเน้นเหตุการณ์ที่จ.ภูเก็ต เพราะเราไม่รู้เลยว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่ถ้าท่านไปแสดงออกให้เขาเห็นว่าในเรื่องของมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย นั่นก็เป็นมาตรการทางสังคม แต่ถ้าท่านไปและทำร้ายคนอื่น ท่านก็ต้องถูกลงโทษ แม้สิ่งเหล่านี้ที่ท่านทำจะบริสุทธิ์ใจที่จะไม่ให้ใครมาทำร้ายความเจ็บปวดของคนไทย แต่ท่านไม่สามารถทำคนอื่นได้ เพราะฉะนั้น มาตราการทางสังคมถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ปรับทัศนคติความคิด

“ผมว่าวันนี้ที่คนออกมา คนที่คิดอย่างนี้ก็ต้องกลับมาคิดเหมือนกันว่าทำไมความรู้สึกของคนไทยที่เขาทำออกไป ทำไมเขาถึงได้รับการตอบโต้ในลักษณะนี้ มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าท่านจับคนพวกนี้เข้าคุกเข้าตารางไป ท่านมั่นใจหรือว่าจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ เพราะมันคือความคิดความเชื่อ ความเข้าใจ ซึ่งมันต้องใช้คำอธิบาย ไม่ได้ใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นการบังคับใช้การลงโทษ ซึ่งต้องแยกกันให้ดีว่าการใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมู่ถูกต้องกันหรือไม่ผมไม่ได้สนับสนุนให้คนไปทำร้ายร่างกายกัน ถ้าคุณไปทำร้ายหรือชกต่อย คุณก็จะทำผิดกฎหมาย เพราะนั่นไม่ใช่มาตรการทางสังคม ซึ่งมาตรการทางสังคมจะต้องไม่ผิดกฎหมาย”พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image