โฆษกแรงงานยันปรับ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ สอดคล้องระบบเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในปี 2560 แบ่งค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกไม่ขึ้นค่าจ้างใน 8 จังหวัด กลุ่มที่ 2 ขึ้นค่าจ้าง 5 บาท ใน 49 จังหวัด กลุ่มที่ 3 ขึ้นค่าจ้าง 8 บาท ใน 13 จังหวัด และกลุ่มที่ 4 ขึ้นค่าจ้าง 10 บาท ใน 7 จังหวัด นั้น ยันยันว่า การพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 ทุกขั้นตอนภายใต้คณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว ซึ่งข้อมูลทุกอย่างได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มีผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง

“สำหรับการพิจารณาครั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจไปกำหนดแนวทางเพื่อใช้สูตรการคำนวณใหม่ ซึ่งเพิ่มเติมตัวชี้วัดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในปี 2558-2559 มาตรฐานค่าเฉลี่ยค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาสินค้าและบริการ ความสามารถในการประกอบธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ (จีดีพี) คำนวณจากปี 2553-2557 รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้ศึกษาค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านด้วย” นายสุทธิ กล่าวและว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้าง เสนอต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ต่อไป จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image