‘มนัส ทรงแสง’ เล่าเหตุการณ์ประทับใจ ‘VR009’ รหัสพระนามในหลวง ร.9 ยกย่องพระองค์เป็นบิดาแห่งวงการสื่อสารไทย

นายมนัส ทรงแสง อดีตรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “ย้อนรอย VR009” ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงนับได้ว่าเป็นบิดาแห่งวงการสื่อสารไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้ความสนใจเรื่องการใช้คลื่นความถี่ทั้งของราชการและเอกชนอย่างถ่องแท้ ผ่านการศึกษาด้วยพระองค์เอง ทำให้เกิดพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการใช้งานคลื่นวิทยุ นอกจากนี้ยังพระราชทานคำสอนมากมายแก่ข้ารารการและเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุสายลม กรมไปรษณีย์โทรเลข (สำนักงาน กสทช. ปัจจุบัน) อาทิ เมื่อครั้งศูนย์วิทยุสายลมได้รับเครื่องส่งวิทยุมาใหม่คือเครื่อง FT726R ในครั้งนั้นข้าราชการที่ศูนย์วิทยุสายลมไม่มีใครใช้งานเป็น จนกระทั่งพระองค์ท่านได้ติดต่อเข้ามาและพระราชทานคำสอน การใช้งานเครื่องรุ่นดังกล่าว ที่มีปุ่มปรับเยอะมาก แต่พระองค์ท่านทรงอธิบายได้ทั้งหมด ด้วยภาษาธรรมดาเข้าใจง่าย จนเจ้าหน้าที่ราชการที่ศูนย์สายลมสามารถใช้งานได้

“ถ้าเราสังเกตในข่าวพระราชสำนักบ่อยๆ เมื่อครั้งในหลวงเสด็จฯทรงงานยังถิ่นทุรกันดาร อุปกรณ์ที่พระองค์ท่านจะพกติดตัวเสมอคือ กล้องถ่ายรูป สมุด ปากกา แผนที่ และวิทยุสื่อสารขนาดเล็ก 1-2 ตัว เพื่อตรวจสอบคลื่นวิทยุสื่อสารในพื้นที่นั้น เพื่อจดบันทึกส่งให้เจ้าหน้าที่รับทราบอยู่เสมอ” นายมนัสกล่าว

นายมนัสกล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ประทับใจที่ได้มีโอกาสถวายงานให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2528 เมื่อครั้งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ในขณะนั้นตนเป็นหัวหน้าศูนย์สายลม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายช่าง ทำหน้าที่วางระบบสื่อสารรายงานผลการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่แข่งขันกัน 2 แห่ง คือกรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี โดยการสื่อสารต้องใช้วิทยุสมัครเล่นหรือวอล์กกี้ทอล์กกี้ บนความถี่ย่าน VHF แต่ช่วงแรกเกิดปัญหาส่งสัญญาณไม่ถึงเพราะไกลเกินไป จึงต้องทำเสาติดอุปกรณ์ทวนสัญญาณที่เขาฉลาก แต่พอจะเอาไปติดตั้งปรากฏว่ามีสัญญาณรบกวน จนเจ้าหน้าที่แก้ไม่ตก

“ในที่สุดได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ท่านติดต่อเข้ามา พร้อมบอก วีอาร์ 009 (รหัสผู้ใช้งานวิทยุสื่อสาร คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) พร้อมรับสั่งว่า พระองค์ท่านรับฟังและติดตามอยู่ ทรงถามถึงความถี่ภาคส่ง ความถี่ภาครับเท่าไหร่ วิธีการติดตั้งเสาอากาศเป็นอย่างไร ความสูงระดับไหน แล้วทรงแนะนำการติดตั้งเสาสัญญาณ การติดตั้งตัวกรองคลื่น ใช้เวลาประมาณ 45 นาที จนใช้การได้ หลังจากนั้นทุกวันช่วงบ่ายจะทรงติดต่อเข้ามาทุกวัน โดยติดต่อสมาชิกในพื้นที่เพื่อถามถึงเครื่องทวนสัญญาณ ผลการแข่งขันเรือใบเป็นอย่างไร จะทรงขอทราบผลรายงานสัญญาณจากศูนย์สายลมตลอด แล้วสอนวิธีการแก้ไขให้ปรับปรุงอุปกรณ์ จนการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 13 เสร็จสิ้นลุล่วง”

Advertisement

นายมนัสกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีอีกเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจ คือปี 2539 เมื่อครั้งเกิดวาตภัยที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในครั้งนั้นการติดต่อสื่อสารปกติไม่สามารถทำได้ จึงมีนักวิทยุอาสาสมัครลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านมากมาย แต่ก่อนการลงพื้นที่ พระองค์ท่านได้ติดต่อเข้ามาพระราชทานคำแนะนำวิธีการที่ถูกต้องในการออกไปช่วยประชาชน โดยให้เอารถติดตั้งวิทยุไปจอดในตัวเมืองราชบุรี ในจุดพื้นที่สูง ส่วนผู้ที่จะลงพื้นที่ให้นำเครื่องวิทยุสื่อสารติดตัวไป โดยเตรียมแบตเตอรี่สำรองติดตัวไป ซึ่งพระองค์ทรงแนะนำกระบวนการต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างละเอียดมาก เช่น ทรงแนะนำให้เอาฉนวนหุ้มแบตเตอรี่เพื่อป้องกันไม่ให้ไปโดนโลหะหรือเศษสตางค์ทำให้ชอร์ตและอาจไม่มีพลังงานใช้ได้

นายมนัสกล่าวว่า ความรู้สึกต่อพระองค์ท่านคือ ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณกับวงการวิทยุสื่อสารอย่างมากมายมหาศาล เนื่องจากในยุคแรกการขออนุญาตใช้วิทยุสื่อสารทำได้ยากมาก ต้องขอนุญาตสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งไม่เห็นด้วยจะให้ใช้ จึงมีใช้เฉพาะทหารอเมริกัน พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัย ส่งผลให้พระองค์ท่านมีพระราชวินิจฉัยให้ใช้คลื่นวิทยุสื่อสารเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ โดยให้มีการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องแอบใช้กัน จากนั้นจึงมีการตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครขึ้น แล้วทูลเกล้าฯ ถวายชื่อรหัสเรียกวิทยุสื่อสาร VR009 โดยเมื่อถวายแล้วท่านรับและใช้ตอนแรกๆ ช่วงที่พระองค์ติดต่อเข้ามาบ่อยๆ คือปี 2528 เพื่อพระราชทานความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งเสาอากาศ และการใช้งานในภาคส่วนต่างๆ

“ผมจำได้ว่าในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พล.ต.ต.สุชาติได้ให้สมาชิกมาถวายพระพรผ่านช่องทางการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หลังจากนั้น VR009 ได้เรียกเข้ามาว่า ขอบใจ VR001 (พล.ต.ต.สุชาติ) และทุกคน ที่ได้มาอวยพรวันเกิดให้วีอาร์ 009 ในวันนั้น นอกจากนี้ ตามปกติที่ในระหว่างที่มีคุยโต้ตอบผ่านทางวิทยุสมัครเล่น เมื่อบุคคลที่ 3 จะเข้ามาพูดในวงสนทนามักใช้คำว่าเบรก แต่ทุกครั้งที่พระองค์ท่านจะขอแทรกระหว่างบทสนทนา จะใช้คำว่าขออนุญาต ซึ่งแสดงถึงความสุภาพมาก”

Advertisement

นายมนัสกล่าวปิดท้ายว่า “นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนในประเทศไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และจะทำความดีเพื่อสังคม โดยในงานพระบรมศพเราจะไปให้บริการอำนวยความสะดวกกับประชาชนด้วย เฉพาะอย่างยิ่งวันที่ 28 ตุลาคม ที่คาดว่าประชาชนคงมามาก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image