ทีดีอาร์ไอเผย เศรษฐกิจโลกดีขึ้น สหรัฐฯขับเคลื่อนโลก – อินเดียเด่นสุด

ทีดีอาร์ไอเผยเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ ห่วงกลุ่มประเทศเกิดใหม่หนี้ต่างประเทศสูง

วันนี้ (10 ก.พ.) นางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนาแนวโน้มเศรษฐกิจการลงทุนและมุมมองการขับเคลื่อนของประเทศไทยปี 2559 ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้โดยรวมยังมีการเติบโต โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยสหรัฐฟื้นตัวดีขึ้นและถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แม้ยังมีความผันผวนบ้าง ซึ่งจีดีพีของสหรัฐคิดเป็นกว่า 16% ของจีดีพีโลก ยุโรปและญี่ปุ่นทรงตัวและค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ด้านเศรษฐกิฐจีน ชะลอตัว แต่ยังขยายตัวได้ที่ 6.3% ทั้งนี้ อินเดียเป็นดาวเด่น ปีนี้คาดว่าจะโต 7% จากการที่รัฐบาลปฏิรูปเศรษฐกิจและมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ อาทิ บราซิล รัสเซีย ยังชะลอตัวอยู่

“เศรษฐกิจโลกระยะ 5 ปีต่อจากนี้จะเติบโตอย่างช้า ๆ ประมาณ 4-5% เป็นการเติบโตแบบนิวนอร์มอล ไม่ได้เป็นโอลนอร์มอลที่เติบโตแบบหวือหวา” นางกิริฎากล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศตลาดเกิดใหม่ได้รับความสนใจและมีการกู้เงินสกุลต่างประเทศเพื่อมาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีการสะสมหนี้ต่างประเทศสูง อาทิกลุ่มประเทศ ฮังการี ตุรกี รัสเซีย ซึ่งขณะนี้สหรัฐหยุดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน(คิวอี) และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะมีผลให้เกิดการเบี้ยวหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่งผลต่อสถาบันการเงินในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้ปล่อยกู้ อาจจะเกิดการล้มเป็นโดมิโนได้ คล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่กรณีนี้เป็นระดับโลก จึงเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเด็นเงินทุนไหลเข้าออกกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีความผันผวน ก็จะต้องติดตามเช่นกัน

Advertisement

ส่วนเศรษฐกิจจีน จีนมีหนี้ต่างประเทศต่ำ แต่ที่เป็นห่วงคือ การก่อหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์และมีกำลังผลิตส่วนเกินสูง ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างขึ้นมาแล้วไม่มีคนอยู่ ธุรกิจเหล็กและอะลูมิเนียม ดำเนินโดยรัฐวิสากิจเป็นส่วนใหญ่ ถ้าบริษัทเหล่านี้ล้มจะส่งผลกับเศรษฐกิจจีนอย่างไร ซึ่งจีนพยายามแก้ปัญหาโดย มีการควบรวมรัฐวิสาหกิจ มีการส่งเสริมให้มีการออกไปลงบทุนต่างประเทศ

สำหรับเศรษฐกิจไทยคาดเติบโตประมาณ 3.5% แรงขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง อาจจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคให้ปรับดีขึ้น ส่วนการส่งออกยังชะลอตัว ทั้งนี้อาจจะมีผลจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภาคการเกษตรได้ ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image