“สนพ.”เผยปีนี้แหล่งก๊าซฯหยุดจ่ายสูงสุดถึง 15ครั้ง แต่มั่นใจได้ไม่กระทบค่าไฟ

“สนพ.”เผยปีนี้แหล่งก๊าซฯหยุดจ่ายสูงสุดถึง 15ครั้ง แหล่งยาดานาหยุดจ่าย 20-23ก.พ.นี้แต่มั่นใจรับมือได้แถมไม่สะเทือนค่าไฟ

เมื่อวันที่ (10 ก.พ.)นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.กำลังติดตามสถานการณ์เพื่อกำหนดมาตรการรองรับความมั่นคงระบบไฟฟ้าในปี 2559 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปีนี้จะมีแหล่งก๊าซหยุดซ่อมบำรุง ส่งผลทำให้ต้องหยุดจ่ายมากที่สุดของปีถึง 15 ครั้ง โดยมี 2 ครั้งที่สำคัญ มีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าสูงคือ แหล่งยาดานา พม่า ที่จะหยุดจ่ายช่วงแรก20- 23 กุมภาพันธ์ 2559 และแหล่งก๊าซฯพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือ เจดีเอ ช่วง 21-30 สิงหาคม 2559

นายทวารัฐกล่าวว่า ทั้งในภาพรวมแหล่งยาดานาหยุดช่วง 20-23 กุมภาพันธ์ และช่วง13-15 เมษายน เนื่องจากเป็นแผนต่อเนื่องที่จะต้องมีการเชื่อมกับแหล่งผลิตเล็ก คือแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบาดัมยาร์ ที่มีค่าความร้อนสูง ในพม่าเช่นกัน ซึ่งแหล่งยาดานาที่หยุดเป็นช่วงที่ใช้ไฟสูงประมาณ 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ และก๊าซฯนี้จะหายไปราว1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะมีผลกระทบโรงไฟฟ้าที่หายไปประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ทำให้กำลังการผลิตหายไปจริงเพียง 3,394 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 5 มาตรการ คือ 1. ให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือเดินระบบด้วยก๊าซฯจากภาคตะวันออก 2.ประสานโรงไฟฟ้าฝั่งลาวให้เดินเครื่องเต็มกำลัง 3.เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่เป็นเชื้อเพลิงอื่นที่ไม่เกี่ยวกับก๊าซแหล่งพม่า 4.เปลี่ยนเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าราชบุรีและไตรเอ็นเนอร์ยี่มาใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา และ5.เตรียมสำรองน้ำมันเตาและดีเซล ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อปริมาณไฟฟ้าภาพรวมและจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อยมาก เนื่องจากน้ำมันมีราคาต่ำ

นายทวารัฐกล่าวว่า สำหรับแหล่งเจดีเอ เอ-18 จะหยุดช่วง 21-30 สิงหาคม ขณะนี้แผนการหยุดจ่ายยังอยู่ระหว่างหารือ จะทำให้ปริมาณก๊าซฯหายไปประมาณ 421 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะกระทบโรงไฟฟาจะนะ จ.สงขลาทั้งหมด ดังนั้นการเจรจาต้องติดตามการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอมกำลังผลิต 900 เมกะวัตต์ที่จะเข้าระบบมิถุนายน 2559 ว่าจะเป็นอย่างไร ตามกรอบเวลาหรือไม่ เพื่อความมั่นคงของระบบ

Advertisement

ทั้งนี้สถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้ปัจจุบัน สนพ.กำลังติดตามอยู่ โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งอาจต้องเลื่อนระยะเวลาจ่ายไฟเข้าระบบออกไปอีก ซึ่งจะต้องรอสรุปจากคณะกรรมการไตรภาคีที่ชัดอีกครั้งเพื่อนำมาปรับแผน โดยภาคใต้มี 3 จุดที่ใช้ไฟสูงต่อเนื่องได้แก่ ภูเก็ต สมุย และหาดใหญ่ โดยเฉพาะจ.ภูเก็ตน่ากังวลมากที่สุด เพราะมีการใช้ไฟสูงถึง 10% ต่อปี โดยความสามารถสายส่งขนาด 230 กิโลโวลต์(เควี)จะจ่ายไฟได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์แต่ปัจจุบันความต้องการใกล้เคียงแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเดินสายส่งเป็น 500 เควี จึงต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้หากจะให้ภาคใต้มีความมั่นคงควรจะมีโรงไฟฟ้าเพิ่มจากปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image