“บิ๊กต๊อก”ถก”ศอตช.”แจงคำสั่งคสช.มอบงานเพิ่ม ดึง”อปท.-บัญชีกลาง-สภาเกษตร”ร่วมทีม

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 21 ตุลาคม ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นประธานการประชุม ศอตช. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ประชุมคณะกรรมการ ศอตช. เนื่องจากมีหลายเรื่องต้องแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับคำสั่ง คสช. หลายเรื่อง ที่มอบหมายให้ศอตช.ดูแล ทั้งการตรวจสอบข้าราชการที่กระทำความผิด มีการเพิ่มเติมขึ้นมาให้ศอตช.ดูแล เช่น การค้ามนุษย์ และการพนัน เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลยังมอบหมายให้ศอตช.ดูแลเรื่องพ.ร.บ.กฎหมายลูกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะต้องตั้งคณะทำงานมาดูแลเรื่องนี้ โดยเป็นกฎหมายบางส่วนเท่านั้น อาจเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับในช่วงการสร้างการรับรู้ การสร้างกลไก

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือ ป.ป.ช. เสนอยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะออกโดย ป.ป.ช. ซึ่ง คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้ศอตช.เป็นหน่วยงานประสานกับ ป.ป.ช. ในเรื่องการจัดกลไกการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ากลไกน่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารส่วนหนึ่งที่จะสร้างกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้น ศอตช.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อประสานกับ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการจัดกลไกดังกล่าว ทั้งนี้ได้เร่งรัดเกี่ยวกับ มาตรา 44 ในการดำเนินการกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับการทุจริต โดยให้ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. เร่งรัดการตอบภายใน 30 วัน ต่อไปนี้จะให้เป็นหลักเกณฑ์แล้ว โดยเมื่อกระทรวง ทบวง กรม เขาสอบขั้นต้นมาถึง ศอตช. แล้ว จะขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งก็ตาม ต้องตอบให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน น่าจะทำได้เพราะมีข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้โยกย้ายข้าราชการออกอยู่แล้ว ถ้าประเด็นที่เกิดข้อขัดแย้งไม่ตรงกัน หรือความเห็นไม่ตรงกันกับกระทรวง จะมีตามคำสั่ง คสช. ที่ให้หัวหน้าคสช. ได้เสนอความเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีก่อนหน้านี้เรียกประชุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจากระเบียบศอตช. เกิดขึ้นจากสำนักนายกรัฐมนตรี เราจะเสนอให้มีคณะกรรมการจากกรมบัญชีกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาเกษตรกร เข้ามาเป็นคณะกรรมการตามระเบียบของ ศอตช. ขึ้นมาด้วย โดยจะใช้รูปแบบเหมือนกลไกของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่เขาดูแลท้องถิ่นอยู่ จะทำให้กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าเราไปตรวจและมีปัญหา และใช้อำนาจทางการปกครอง จะทำให้ไม่มีการพัฒนา หรือการกระจายอำนาจก็จะมีผลกระทบ ในส่วนศอตช.จะมีบทบาทตรงนี้ โดยให้หน่วยงานทั้งหมดไปตรวจ แนะนำ และให้ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ

Advertisement

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การประชุมของ ศอตช. จะมีการประชุมบ่อยขึ้น เพราะต่อไปนี้ ศอตช.จะต้องเป็นองค์หลักเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้หน่วยที่เข้าไปเกี่ยวข้องได้คิดรูปแบบและวิธีการทำงานให้มากขึ้น เพราะรัฐบาลนี้เหลือเวลาอีก 1 ปีเท่านั้น ก่อนจะส่งมอบงานให้กับรัฐบาลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image