อดีต ผอ.สำนักงบฯ เบิกความคดีจำนำข้าว ตอบอัยการขั้นตอนประเมินงบประมาณขัดกม.หรือไม่

เมื่อเวลา 08:00 น.วันที่ 21 ตุลาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 5 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

โดยก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนไทยโศกเศร้า ดิฉันจะไม่ขอแถลงการณ์ใดๆ จนกว่าจะถึงระยะเวลาอันสมควร แต่ขอยืนยันว่าดิฉันไม่ได้ทำผิด”

ส่วนที่กรณีกระทรวงการคลังออกคำสั่งทางปกครองเรียกเก็บค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อตนเป็นอย่างมาก ทราบกันว่าเป็นเรื่องของนโยบาย และไม่เคยมีใครถูกกระทำอย่างนี้มาก่อนในเวลาอันเร่งรีบอย่างนี้ ขอยืนยันว่าจะใช้สิทธิ์ทุกช่องทางของกฎหมายที่มี ในการกอบกู้ความเป็นธรรมครั้งนี้ โดยขอปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆและกระบวนการที่ใช้คำสั่งเพราะถือว่าไม่ถูกต้องเป็นธรรม ตนจะเปิดแถลงการณ์ในเวลาอันควร เพราะเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศโศกเศร้าจึงไม่ขอพูดอะไรมากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการออกคำสั่งดังกล่าวมีกรอบเวลาตามกฎหมายที่จะคัดค้านได้ว่าต้องยื่นภายในกี่วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องทำตามข้อกฎหมาย จะทำตามข้อกฎหมายทุกช่องทาง เมื่อถามว่ามองอย่างไร ที่มีการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 มาดำเนินการเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่ากระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นก็ไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว ได้ร้องขอความเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่วันนี้ยังไม่ขอพูดในรายละเอียด

Advertisement

“เรียนว่าใครเป็นอย่างดิฉัน คงรู้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมแค่ไหน”น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวและ ว่า โดยประเด็นที่ยังเป็นห่วงว่าอะไรที่เป็นเรื่องของนโยบายแล้วมาถูกทำแบบนี้ อนาคตอาจทำให้รัฐบาลดูแลนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชนและชาวนายากขึ้น เพราะมาตรการต่างๆไม่สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้มีมวลชนมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งหมดต่างสวมชุดสีดำ ไม่มีการส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ นายกฯสู้ๆเหมือนเช่นเคย และไม่มีการมอบดอกกุหลาบสีเเดง มีเพียงยกมือไหว้ให้กำลังใจเท่านั้น

โดยในวันนี้ทนายจำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 2 ปาก ประกอบด้วย นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นายเกษม มกราภิรมย์ อดีตกรรมการผู้ทรงวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ

Advertisement

นายวรวิทย์ เบิกความซักค้านอัยการสรุปว่า สำนักงานงบประมาณเคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นหน้าที่ของ ครม.ที่จะนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณาประกอบกับข้อมูลอื่นเพื่อพิจารณาให้โครงการมีประโยชน์สูงสุด ความเห็นดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันกับ ครม. โดยการตั้งราคารับจำนำของรัฐบาลจำเลยขึ้นอยู่กับราคากลางของข้าวในขณะนั้น แต่ราคารับจำนำจะสูงกว่าราคาตลาดถึง 7,000-8,000 บาทต่อตันหรือไม่ ตนไม่ทราบ งบประมาณที่ใช้ในโครงการภาพรวมอาจจะดูตัวเลขสูง แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายปีเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ ทั้งนี้ ไม่ทราบว่ามีการนำข้าวมาจำนำสูงกว่าปริมาณที่ชาวนาผลิตได้ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ได้ทำหนังสือถึง ครม.แจ้งว่าเงินที่จะมาใช้จ่ายในการรับจำนำเหลือน้อย แต่ยอมรับว่าโครงการได้กำหนดวงเงินรับจำนำและจำนวนรับจำนำใหม่ หลังจากที่ดำเนินโครงการมาแล้วระยะหนึ่ง รวมทั้งยอมรับด้วยว่า ครม.มีมติให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)ใช้เงินของ ธกส. 9 หมื่นล้านโดยไม่ต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี การใช้จ่ายเงินในโครงการไม่สามารถเกินกรอบที่กำหนดไว้ได้

นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดินโดยจะใช้เงินกู้และงบประมาณมาใช้ในโครงการ พยานจะต้องประเมินและบริหารจัดการงบประมาณ และรายงานให้ ครม.ทราบ แต่ในการประเมิน ไม่มีผู้ประเมินอิสระร่วมด้วย และก่อนเริ่มโครงการไม่มีการวิเคราะห์หรือประเมินความเป็นไปได้และความเสี่ยงของโครงการเพราะไม่ได้รับแจ้งจาก ครม. แต่ทราบว่าที่ประชุม ครม.และ กขช.ได้มีการหารือถึงผลดีและผลเสียของโครงการโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสภา ตนไม่ทราบรายละเอียด ส่วนที่ตามกฎหมายระบุว่า เมื่อมีการประเมินความคุ้มค่าโครงการแล้วให้รายงานต่อ ครม.เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อหรือยุบโครงการนั้น รับทราบข้อกำหนดนี้ แต่การพิจารณายุบเลิกหรือไม่เป็นหน้าที่ของ ครม.

อัยการโจทก์ถามว่า ตามกฎหมายระบุให้รายได้จากโครงการต้องส่งคืนคลังเพื่อให้กระทรวงการคลังจัดสรรนำชำระหนี้สาธารณะดอกเบี้ยสูง แต่เหตุใดรัฐบาลจึงนำเงินจากการระบายข้าวไปชำระให้ ธกส. นายวรวิทย์ กล่าวว่า หากเงินในโครงการเหลือน้อย ครม.มีมติแก้ปัญหาโดยเร่งระบายข้าวเพื่อนำเงินดังกล่าวจ่ายให้กับ ธกส. ตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ เพื่อลดภาระหนี้โครงการ ซึ่งทุกอย่างมีระเบียบรองรับ

อัยการโจทก์ถามต่อว่า แสดงว่าเป็นความผิดของกระทรวงการคลังที่ไม่เรียกเงินคืนและพยานได้พยายามแจ้งให้ ครม.ทราบหรือไม่ นาย วรวิทย์ กล่าวว่า เป็นไปตามหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องเรียกเงิน ตนก็ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแต่เป็นเรื่องของ ครม.ที่ต้องตัดสินใจ

อัยการโจทก์ถามว่า ถามอีกว่า จากการร่วมประชุมเคยทราบว่าจำเลยในฐานะ ประธาน กขช.มีแนวคิดสั่งการให้ยุติโครงการบ้างหรือไม่หลังจากขาดทุน นาย วรวิทย์ กล่าวว่า ทราบแต่ว่าจำเลยมีการสั่งการให้ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและ กฎหมายมาโดยตลอด แต่ไม่มีการสั่งการแต่อย่างใด

อัยการโจทก์ถามต่อว่าเคยทราบถึงภาระหนี้สินกว่า 8.7 แสนล้านบาทหรือไม่ ในฐานะที่ดูแลเรื่องงบประมาณ นายวรวิทย์ กล่าวว่า เคยเห็นเป็นเอกสารและทราบว่ามีภาระหนี้สิน 5 แสนล้านบาท แต่คิดว่าเมื่อหักปิดบัญชีและสามารถจำหน่ายข้าวที่ค้างสต๊อกไว้ได้ ยอดภาระหนี้สินจะลดลงอีก

ภายหลังไต่สวน นายวรวิทย์ ในช่วงบ่าย แล้ว ทนายจำเลยได้นำ นายเกษม เข้าเบิกความเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะ จนเสร็จการพิจารณาในวันนี้เวลา ประมาณ 16.00 น. ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยอีกครั้ง วันที่ 4 พฤศจิกายน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังจะมาเบิกความในนัดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการไต่สวนมีการพยายามซักพยานจำเลย ถึงการบริหารจัดการงบและหนี้สาธารณะ ซึ่งมีการยกข้อกฎหมายหลายมาตรา ถึงการประเมินการบริหารโครงการว่าขัดต่อกฎหมายที่ยกตัวอย่างมาหรือไม่ โดยพยานไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้ชัดเจน จนองคณะผู้พิพากษาได้ อธิบายให้พยานฟังว่าหากพยานเบิกความไม่ตรงกับคำถามอัยการโจทก์ และข้อเท็จจริงที่พยานทราบ จะไม่เป็นประโยชน์ในการสู้คดีของจำเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image