เปิดต้นแบบหมู่บ้านฟิสิกส์นาโนพัฒนาปลูกสละ จ.จันทบุรี ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตที่ยั่งยืน

วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปั้นนาโนซิงค์ออกไซด์แก้ปัญหาโรคไม้ผล เปิดต้นแบบหมู่บ้านฟิสิกส์นาโนพัฒนาปลูกสละ จ.จันทบุรี ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตที่ยั่งยืน

วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เปิดโครงการ “หมู่บ้านฟิสิกส์นาโนเพื่อการพัฒนาปลูกสละ” ในตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี นำองค์ความรู้ในการประยุกต์ใช้วัสดุนาโนมาช่วยแก้ไขปัญหาเชื้อราและแบคทีเรียในกระบวนการปลูกสละ ผลไม้เศรษฐกิจของจันทบุรี เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร และมุ่งหวังให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการขยายผลความรู้การแก้ปัญหาให้เกษตรกรในวงกว้างเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

KMITL Nano Technology (2)

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “สจล. จัดตั้งวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังขึ้นเพื่อนำเอานวัตกรรมนาโนมาแก้ไขปัญหาภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้ง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ พลังงานทดแทน และสิ่งแวดล้อม พร้อมการออกแบบผลิตภัณฑ์ของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพผลิตผลและสินค้าเกษตรของไทยพอเพียงต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกในต่างประเทศได้ สอดคล้องแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพทางการเกษตรอย่างยั่งยืน นาโนเทคโนโลยีคือคำตอบที่สำคัญ เกษตรกรนำไปใช้ได้ง่ายไม่สลับซับซ้อนราคาไม่แพง”

Advertisement

KMITL Nano Technology (13)

ดร. อดิเรก แรงกสิกรณ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สังกัดวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สจล. กล่าวว่า “โครงการหมู่บ้านฟิสิกส์นาโนเพื่อการพัฒนาปลูกสละ ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือกับทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ThEP) โดยศาสตราจารย์ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เป็นประธานในการเปิดหมู่บ้านฯ ในวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยการดำเนินงานผ่าน ศาสตราจารย์ ดร.จิติ หนูแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ดร.อดิเรก แรงกสิกรณ์ ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สจล. ร่วมมือกับ ดร.ชีวะ ทัศนา ภาควิชาพิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และกลุ่มเกษตรกรอำเภอท่าใหม่ ได้มีการเตรียมจัดตั้งหมู่บ้านฯ มาหลายเดือน พร้อมทดลองกับพืชสละในพื้นที่ โดยจัดอบรมวัสดุนาโนและการประยุกต์ใช้งานอนุภาคนาโนซิงค์ออคไซด์(ZnO) ซึ่งมีสมบัติในการยับยั้งราและฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นวัสดุหลักในแก้ไขปัญหาทางด้านเกษตร มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 80 คน”

KMITL Nano Technology (5)

Advertisement

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยนาโนสเกลฟิสิกส์ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สังกัดวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังได้ดำเนินการจัดตั้งโครงการอบรมให้ความรู้การใช้วัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนวัสดุนาโนตลอดโครงการเพื่อจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านนาโนเทคโนโลยีสำหรับแก้ปัญหาโรคที่เกิดกับพืช รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่วิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยเพื่อการเกษตรสู่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ปัจจุบันเราได้จัดโครงการฝึกอบรมมาแล้วหลายหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมถึงได้มีการนำไปเผยแพร่วัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ในหน่วยงานราชการ เช่น โครงการชั่งหัวมัน มูลนิธิชัยพัฒนา จึงมีบทพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์สามารถแก้ปัญหาด้านการเกษตรได้อย่างแท้จริง ช่วยลดปัญหาด้านเกษตรและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเกษตรกร ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด”

KMITL Nano Technology (8)

นาโนซิงค์ออกไซด์ (Nano-ZnO) คือ อนุภาคของซิงค์ออกไซด์ที่มีขนาดอยู่ในระดับนาโนเมตร ซิงค์ออกไซด์เกิดขึ้นเมื่อให้ความร้อนกับธาตุสังกะสีจนถึงจุดเดือดและทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เมื่อลดอุณหภูมิผ่านการแยกขนาดมีลักษณะเป็นผงอนุภาคละเอียดสีขาวซึ่งสามารถป้องกันรังสียูวีเอและยูวีบีได้ ใช้เป็นส่วนประกอบการผลิตในอุตสาหกรรม เช่น ยาง สีทาบ้าน พลาสติก แก้ว เซรามิค อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ทางด้านชีวะภาพเป็นสารที่ใช้ยับยั้งแบคทีเรีย ไม่มีความเป็นพิษต่อร่างกาย รวมทั้งระงับกลิ่นไม่พึงประสงค์ จึงนำมาใช้เป็นยาต้านแบคทีเรียบางชนิด สำหรับประโยชน์ของนาโนซิงค์ออกไซด์ด้านเกษตรกรรมนั้น สามารถนำมาช่วยแก้ไขปัญหาโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียโดยตรงซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตการเกษตร โดยใช้อัตราส่วนนาโนซิงค์ออกไซด์ 50 กรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นต้นพืชทุกๆ 15 วัน

สมศักดิ์ จันทร์แต่งผล และอนุสรณ์ ฐิติคุณรัตน์ สองเกษตรกรสวนสละ ท่าใหม่ จันทบุรี ที่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า รู้จักนาโนซิงค์ออกไซด์เพราะมีเพื่อนเกษตรกรแนะนำมาแบบปากต่อปาก และทางโครงการก็แจกมาให้ทดลองใช้ฟรี ได้ใช้มาสองปีแล้ว เห็นผลเลยว่าสามารถใช้ป้องกันการเกิดโรคได้ดี และสังเกตได้เห็นว่าผลสละผิวแดงเด่น สวยน่ากินขึ้นอีกด้วย

อนุสรณ์ ฐิติคุณรัตน์

สมศักดิ์ จันทร์แต่งผล

ทั้งนี้วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ยังได้ทำการจัดจำหน่ายวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ในราคากิโลกรัมละ 380 บาท สามารถสั่งซื้อได้ใน 2 ช่องทาง คือ ติดต่อวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง โดยตรงในเวลาราชการ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น. หรือโอนเงินเข้าบัญชีและจัดส่งวัสดุทางไปรษณีย์ ที่หมายเลขบัญชี 0882543981 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อบัญชี: ศูนย์วิจัย นาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรด่านช้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image