‘พระราชนิพนธ์แห่งอัครศิลปิน’ พระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมของในหลวง รัชกาลที่ 9

ตลอด 70 ปีที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครองสิริราชสมบัติมานั้น นอกจากจะทรงอุทิศพระวรกายทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงชนชาวไทยแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถด้านภาษาและวรรณกรรม โดยมีงานพระราชนิพนธ์ออกมาอย่างมากมายซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านนี้ของพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2515 ความว่า

“นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือ แสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม”

พระองค์ทรงมีพระราชนิพนธ์ทั้งงานแปลและที่ทรงพระอักษรเองรวมทั้งสิ้น 7 เรื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือที่ประทับอยู่ในใจของปวงชนชาวไทยตลอดมาด้วยเนื้อหาสาระที่แฝงข้อคิดไว้ผ่านภาษาแห่งเรื่องเล่าที่งดงามสละสลวย

Advertisement

พระราชนิพนธ์เรื่องแรกคือ “พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เพื่อให้พระราชานุกิจกรุงรัตนโกสินทร์ครบแปดรัชกาล โดยพระราชนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ในเรื่อง “พระราชานุกิจ” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล 100 วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดล พระราชานุกิจนั้นหมายถึงกำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆ เป็นประจำทุกวันเป็นการส่วนพระองค์ โดยปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาลตั้งแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาญาณด้านภาษาไทยของพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

เรื่องต่อมาคือ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน วงวรรณคดี ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 โดยเป็นบันทึกที่พระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 โดยทรงบันทึกเป็นเรื่องราวการเดินทาง แสดงถึงความรู้สึกของพระองค์ที่ห่วงใยพสกนิกรอย่างยิ่ง รวมถึงเหตุการณ์ที่ทรงพบเจอ

เรื่องที่ 3 คือ “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์แปลเมื่อ พ.ศ.2537 โดยทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A MAN CALLED INTREPID” บทประพันธ์ของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน ซึ่งทรงใช้ระยะเวลาในการแปลถึง 3 ปี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “นายอินทร์” หรือ “INTREPID” เป็นชื่อรหัสของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ล้วงความลับทางทหารของเยอรมันเพื่อรายงานต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันต่อต้านการขยายอำนาจของนาซี โดยนายอินทร์และผู้ร่วมงานถือเป็นตัวอย่างของผู้กล้าที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใดๆ

นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ

เรื่องที่ 4 เป็นพระราชนิพนธ์แปลเช่นกันและตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2537 คือ “ติโต” ซึ่งทรงจากต้นฉบับเรื่อง TITO ของ ฟิลลิส ออตี้ เพื่อใช้ศึกษาและเรียนรู้บุคคลที่น่าสนใจของโลกคนหนึ่งคือ ติโต หรือรู้จักกันในนามของ จอมพลติโต เดิมชื่อ โจซิบ โบรซ และเป็นนายกรัฐมนตรีคอมมิวนิสต์คนแรกและประธานาธิบดีของประเทศยูโกสลาเวีย ติโตฟันฝ่าอุปสรรคทุกวิถีทางเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศซึ่งประกอบด้วยหลายชนชาติ มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ และสามารถสร้างความเจริญให้ยูโกสลาเวียได้ตลอดชีวิตของเขา

เรื่องที่ 5 คือ พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2539 โดยมีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน โดยเป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก อันเป็นชาดก 10 ชาติสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาดกเรื่องนี้เป็นการบำเพ็ญความเพียรเป็นบารมี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดกและยังทรงแปลเป็นภาษาสันสกฤตประกอบอีกภาษา รวมทั้งแผนที่ฝีพระหัตถ์แสดงสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณบางแห่งและข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับทิศทางลม ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และโหราศาสตร์

เรื่องที่ 6 คือ “ทองแดง” ซึ่งพระราชนิพนธ์เล่มนี้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน และเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ที่ติดอันดับขายดีที่สุดของประเทศในปี พ.ศ.2545 เนื้อหาหลักเป็นเรื่องความกตัญญูรู้คุณของคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง รวมทั้งความจงรักภักดี ความมีมารยาท และการสั่งสอนลูกของคุณทองแดง และในพระราชนิพนธ์ได้ทรงยกย่องคุณทองแดงในเรื่องความกตัญญูรู้คุณของคุณทองแดงที่มีต่อแม่มะลิ “ผิดกับคนอื่นที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้วมักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณซึ่งเป็นคนต่ำต้อย” อันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

ทองแดง

และเรื่องสุดท้ายคือ “พระราชดำรัส” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยรวบรวมพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี พระองค์ทรงเริ่มแปลพระราชดำรัสเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2532 พระราชดำรัสในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ และมีความประสงค์จะได้รับฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณแปลพระราชดำรัสเอง และจากพระราชดำรัสก็กลายเป็นพระราชนิพนธ์เล่มนี้

พระราชนิพนธ์ทุกเรื่องนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้วนั้น ยังแฝงแง่คิดที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์สูงสุดแก่พสกนิกรชาวไทยตลอดมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image