สังคมหลังความขัดแย้ง

ในขณะที่มีคนพูดกันถึงความขัดแย้งกันในสังคม หรือมองว่าสังคมนั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ก็ยังมีแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจไม่ใช่น้อย นั่นก็คือ สังคมหลังความขัดแย้ง (Post-Conflict Society) แทนที่จะพูดกันแต่ว่า สังคมนี้มีความขัดแย้งหรือไม่มีความขัดแย้ง

เรามักจะสนใจประเด็นความขัดแย้งในแง่ที่มองว่า มันมีหรือไม่มีความขัดแย้ง แต่การศึกษาสังคมหลังความขัดแย้งนั้น น่าจะทำให้เราสนใจว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งไปสู่สิ่งอื่นๆ อาทิ การไม่ขัดแย้ง หรือการจำกัดวงความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบที่ไม่ทำให้สังคมพังทลายลงนั้นก็เกิดขึ้นได้

การพูดเรื่องสังคมหลังความขัดแย้ง ทำให้เรามีความหวังในการหาทางออกจากความขัดแย้ง ซึ่งการหาทางออกจากความขัดแย้ง อาจรวมไปถึงเรื่องของการพยายามอยู่กับความขัดแย้งให้ได้เสียก่อน ที่จะเชื่อว่าหนทางที่เราเชื่อว่าจะยุติความขัดแย้งนั้นจะถูกกำหนดโดยฝ่ายของเราแต่ฝ่ายเดียว

นั่นหมายความว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังความขัดแย้งก็คือ “กระบวนการของการเปลี่ยนผ่านในหลายขั้นตอน และหลายมิติ (multiple transition processes)” ไม่ว่าจะหมายถึง การเปลี่ยนผ่านสงครามสู่สันติภาพ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี การกระจายอำนาจ หรือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเมื่อพูดถึงสังคมหลังความขัดแย้งแล้วนั้น แนวคิดดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์แต่ละสถานการณ์ได้ง่ายๆ เพราะลักษณะของความขัดแย้งในแต่ละสถานการณ์อาจไม่เหมือนกัน ส่วนมากเรามักจะมีภาพของประเทศที่ยากจน แต่ในหลายกรณีนั้นความขัดแย้งอาจไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ของความยากจนแบบที่ทุกคนจนหมด

แต่อาจจะเกิดจากสถานการณ์ที่มีความร่ำรวยกระจุกตัว หรือมีลักษณะความเปราะบางของผู้คนหลายกลุ่ม

สําหรับประเด็นเรื่องคำว่า “หลัง” ในแนวคิดสังคมหลังความขัดแย้งนั้น สิ่งที่ควรจะนำมาพูดถึงก่อนก็คือ ในกรณีที่เป็นการพิจารณาในระดับนานาชาตินั้นก็จะอาจจะสังเกตได้ง่าย หมายถึงการที่มีการชนะ หรือแพ้สงคราม ยุติสงคราม หรือมีการเจรจาสงบศึก มีการเซ็นสัญญาสงบศึก

Advertisement

แต่เรื่องที่ยากก็คือ สงคราม หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศเอง ซึ่งเวลาที่เราพูดถึงว่าสังคมนั้นๆ เป็นสังคมหลังความขัดแย้ง เราอาจจะเผชิญกับสถานการณ์จริงที่แม้จะมีการยุติการเผชิญหน้าระหว่างกัน แต่ความไม่เป็นมิตรกันก็ยังดำรงอยู่ หรืออาจจะมีการปะทะกันอยู่บ้างเป็นครั้งคราว หรือในบางปริมณฑล

ในแง่นี้ระยะเปลี่ยนผ่านที่พูดถึงกันในสังคมหลังความขัดแย้ง อาจจะทอดยาวและไม่ราบรื่นเสมอไป ดังนั้น วิธีการพิจารณาความขัดแย้งในสังคมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ว่ามีสองขั้นตอนนั่นคือ มีความขัดแย้ง และสิ้นสุดความขัดแย้ง

แต่อาจจะมีความขัดแย้งในระดับที่ไม่อยู่ที่ผิวหน้า หรือมีการปะทะของแนวปะทะต่างๆ เป็นระยะ

การทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของความขัดแย้ง จึงอาจจะต้องพิจารณาระยะเปลี่ยนผ่านให้ดี ให้มีลักษณะของการตั้ง “หมุดหมาย” (milestones)
เอาไว้ เพื่อให้ตระหนักได้ว่าเราได้ขยับไปใกล้หลักไหนแค่ไหนแล้ว แทนที่จะมองง่ายๆ ด้วยการวัดแค่ว่ามีหรือไม่มีความขัดแย้ง

อย่างในบางสังคมนั้นชอบอ้างและพูดกันเรื่องความปรองดอง แต่สิ่งที่สังคมยังไม่เคยเข้าใจตรงกันเลยก็คือ ความปรองดอง ความสมานฉันท์ หรือความสงบ นั้นมันมีขั้นตอนอะไรบ้าง มีส่วนร่วมกันในการกำหนดไหม และมีส่วนร่วมกันในการประเมิน และก้าวไปในจุดนั้นร่วมกันไหม

สิ่งที่ผมพูดนี้มันหมายถึงเวลาที่เราบอกว่า ทุกอย่างจะเดินหน้าได้ ถ้าทุกคนทำตามหน้าที่ ทั้งที่สิ่งที่อาจเป็นไปได้ก็คือ หลายๆ เรื่องที่มันไม่เดินหน้านั้นนอกจากหลายคนยังไม่ทำหน้าที่แล้ว ยังมีอีกหลายคนทำนอกหน้าที่ หรือทำผิดหน้าที่ของตัวเองอีกต่างหากนั่นแหละครับ

ในระดับนานาชาติ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าความขัดแย้งภายในประเทศนั้น เราอาจจะเห็นขั้นตอนของการก้าวสู่สังคมหลังความขัดแย้งทีละขั้นทีละตอน ได้แก่ การยุติการเผชิญหน้า การไม่ใช้กำลังทางกายภาพห้ำหั่นกัน การลงนามในข้อตกลงร่วมกันของแต่ละฝ่ายว่าจะยุติการเผชิญหน้ากัน โดยเฉพาะในระดับความรุนแรงทางกายภาพ การเปลี่ยนสภาพกองกำลังเดิมไปทำอย่างอื่น การเปิดให้คนอพยพต่างถิ่นได้กลับคือสู่ถิ่นอาศัยเดิม (เพื่อยืนยันว่าความขัดแย้งในพื้นที่นั้นสิ้นสุดลง)

การเพิ่มศักยภาพให้รัฐบาลสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เช่น จัดการเรื่องคดีความ รักษากฎหมาย ลดการโกง และมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้

ขั้นตอนต่อมาที่สำคัญในการที่จะชี้วัดว่าสังคมนั้นลดความขัดแย้งได้จริงไหมไม่ได้อยู่ที่คดีความเท่านั้น แต่รวมถึงการลดความขัดแย้งลงในปริมณฑลต่างๆ ซึ่งอาจจะนอกเหนือไปจากความขัดแย้ง เผชิญหน้าทางกายภาพ การทำการสำรวจว่าแต่ละฝ่ายมีมุมมองซึ่งกันและกันอย่างไร ยังสามารถอยู่ร่วมโลก อยู่ร่วมบ้านกันได้ไหม รวมไปถึงมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเพิ่มขึ้นไหม

สำหรับในหลายกรณี ขั้นตอนการก้าวสู่สังคมหลังความขัดแย้งยังรวมไปถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย

เมื่อย้อนพิจารณาถึงขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมหลังความขัดแย้ง ซึ่งหมายถึงว่า แม้จะยุติความขัดแย้งแบบกายภาพลง ก็จะต้องมีกระบวนการอีกมากมายที่จะต้องทำเพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งในระยะยาว ไม่ใช่หลังความขัดแย้งหมายถึงการกลบความขัดแย้งด้วยกำลังหรือความกลัวเท่านั้น แต่ความรู้สึกเคารพซึ่งกันและกันและไว้ใจซึ่งกันและกันนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถ
สั่งการให้เกิดขึ้นได้ง่ายนัก

นอกจากจะต้องพยายามลดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และความเกลียดชังซึ่งกันและกันลงให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักแล้ว อาจจะต้องพิจารณาถึงว่ามีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่ฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ในสังคมอาจจะได้ประโยชน์จากการคงความขัดแย้งในบางระดับ หรืออาจจะอ้างความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นฐานในการที่ตนจะอยู่ในอำนาจ เพื่อมาแก้ไขในสิ่งนี้มากกว่าแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพราะตนนั้นได้ประโยชน์จากความขัดแย้งดังกล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง การพิจารณาเรื่องของความขัดแย้งนั้น อาจจะเป็นไปได้ยากที่จะอธิบายได้ว่าขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ไม่ขัดแย้งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งจะต้องยุติลงก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากในหลายกรณี การเปลี่ยนผ่านออกจากความขัดแย้งนั้นจะต้องเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งนั้นเอง ไม่ใช่ใช้อำนาจภายนอกมากดเอาความขัดแย้งเอาไว้

สำหรับเรื่องของความขัดแย้งนั้น อาจจะมีอีกเรื่องที่หลายคนสนใจ นั่นก็คือ เราอยู่ในขั้นตอนไหนของความขัดแย้ง ซึ่งเรื่องนี้บางทีอาจจะเป็นเรื่องที่ตกลงหรือเข้าใจไม่ตรงกันนัก อาทิ อยู่ในสังคมเดียวกัน บางทีบางกลุ่มอาจจะบอกว่า เราอยู่ในสังคมที่ความขัดแย้งยุติลงแล้ว บ้างก็ว่าความขัดแย้งกำลังเริ่มขึ้น

ขณะที่บางกลุ่มก็อาจจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นสิ่งที่เกิดในสังคมหลังความขัดแย้งไปแล้ว ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีความขัดแย้งอีกแล้ว แต่อาจจะเป็นสังคมที่เคยมีความขัดแย้งแบบเผชิญหน้า ปะทะกันทางกายภาพ แต่ตอนนี้กลับเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งในระดับโครงสร้าง หรือมีความขัดแย้งในปริมณฑลอื่น อาทิ โลกออนไลน์ หรือในจิตใจของผู้คนไม่ได้ลดทอนความเป็นศัตรูกัน หรือไม่ได้มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเพิ่มขึ้น

มิหนำซ้ำกลไกอื่นๆ เช่น การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้ดำเนินไปเพื่อให้ความขัดแย้งที่เคยมีอยู่หรือที่ยังดำรงอยู่มันหมดไปได้

ในหลายๆ กรณี ภารกิจหลักของสังคมหลังความขัดแย้งคือ การสร้างการบันทึกและจดจำความขัดแย้งและความสูญเสียที่เกิดขึ้น และที่สำคัญที่ไม่ค่อยนึกถึงกันก็คือ นอกจากจะเริ่มรับรู้ร่วมกันแล้วว่าการจดจำความสูญเสียและความขัดแย้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเป็นเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลแล้ว สิ่งที่สำคัญแต่อาจไม่ค่อยถูกขับเน้นในหลายๆ กรณีก็คือ นอกจากจะพยายามจำและไม่ลืมแล้ว ยังจะต้องรวมไปถึงความเห็นพ้องต้องกันของสังคมว่าจะไม่ให้มีความขัดแย้งและรุนแรงแบบนั้นเกิดขึ้นได้อีก

การยอมรับร่วมกันว่าจะไม่ทำให้ความรุนแรง และความขัดแย้งเกิดได้อีกนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่ง เพราะทางหนึ่งก็ต้องแสวงหาความจริง อีกทางก็ต้องแสวงหาการปรองดอง และอีกทางหนึ่งก็คือต้องสร้างการยอมรับร่วมกันว่าเรื่องบางเรื่องจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกจากทุกฝ่าย

การยอมรับความแตกต่าง หรืออดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างนั้นอาจจะเป็นแนวคิดที่สวยหรู แต่ในหลายๆ กรณีการยอมรับต่อความแตกต่าง และความอดทนอดกลั้นนั้นก็มักจะมาคู่กันกับการมีข้อตกลงว่าจะไม่อดทนอดกลั้นต่อบางเรื่องเช่นเดียวกัน และการยอมรับบางเรื่องร่วมกัน (และไม่ยอมรับบางเรื่องร่วมกัน) ให้ได้นี่แหละครับ ที่จะทำให้เกิดความไว้ใจกัน จะก้าวไปสู่การอยู่ร่วมกันและเคารพซึ่งกันและกันได้

ซึ่งในแง่นี้ความถูกต้องนั้นจึงเป็นเรื่องของความถูกต้องในแง่ของข้อตกลงระหว่างกัน ไม่ใช่ความถูกต้องด้วยหลักการอื่นนอกเหนือข้อตกลงและการเคารพอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ในการจะก้าวออกจากความขัดแย้งไปสู่สังคมหลังความขัดแย้ง (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งนั้นสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ แต่ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งในระหว่างนั้นความขัดแย้งอาจจะ “แปรสภาพ” ไปเรื่อยๆ ท่ามกลางการ “เปลี่ยนผ่าน”) เราจะต้องทำความเข้าใจลักษณะและธรรมชาติของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเสียก่อน

ในบางสังคมผมก็ไม่แน่ใจว่าเรามีแม้กระทั่งข้อตกลงที่ตรงกันได้หรือยังว่าความขัดแย้งจริงๆ ในสังคมนั้นมันคืออะไร และเราอยู่ในขั้นตอนไหนของความขัดแย้ง ไม่นับว่าเราเคยพยายามจะสร้างการยอมรับร่วมกันไหมว่าเรื่องบางเรื่องเราจะไม่ยอมรับร่วมกันได้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้เห็นพ้องกันในทุกๆ เรื่องก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image