รู้รักสามัคคี บทเรียนจากนก : โดย ดำรง ลีนานุรักษ์

หมายเหตุ : พระราชดำรัสเรื่อง “รู้รักสามัคคี” ที่ถูกนำมาเป็นหัวข้อบทความ โดยเอาบทเรียนจากนกสองชนิด มเป็นตัวอย่างว่า ผลสุดท้าย ความสามัคคี หรือไม่สามัคคี ส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมของสังคม? บทความเก่าที่เคยตีพิมพ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในมติชนรายวัน วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2549

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงชี้ถึงความหายนะของชาติที่กำลังก่อเกิดขึ้นจากโครงสร้างของสังคมที่เป็นไปโดย “ไม่รู้รักสามัคคี” และทรงมอบให้คนไทยเราไปพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไข

โดยความเป็นจริงพระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสในเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ละครั้งก็เห็นคนไทยปลื้มปีติในพระราชดำรัส น้อมรับไว้เหนือหัวทุกครั้ง

เวลาผ่านมาก็ยังอยู่เหนือหัวนั่นแหละ คือ ขาดการนำมาพิจารณาโดยแยบคาย โดยชาวไทย โดยเฉพาะชาวไทยส่วนน้อยที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ ที่ต้องดูแลทุกข์ของชาวไทยส่วนใหญ่

Advertisement

ความจริงแล้วในฐานะชาวพุทธ คำสอนในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับความสงบสุขของสังคม ความสามัคคีเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่มีหมวดธรรมหลายหมวดมาเกี่ยวข้อง และด้วยเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่อง “ความเป็นเหตุปัจจัย” ศักยภาพในการพิจารณาและวิเคราะห์ปัญหาของคนไทยน่าจะโดดเด่น

แต่ปรากฏว่า หลักการที่สำคัญที่เปรียบเสมือนเครื่องมือของการศึกษา สาเหตุของปัญหา ข้อนี้ของเราอ่อนด้อยหรือพร่องไป และคงจะเป็นไปในวงกว้างหรือเกือบทั้งสังคม เลยทำให้ภาพสถานการณ์ “หายนะ” เริ่มเด่นชัดขึ้นจนองค์พระประมุขต้องทรงเตือนสติ

มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอยู่หมวดหนึ่ง ที่ส่งเสริมพลังความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคม

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเคยกล่าวว่า “คนที่อยู่ในสังคมนี้ จะรวมตัวกันได้เป็นสังคมเดียวกัน ไม่แตกกระจัดกระจาย ต้องมีหลักธรรมที่เรียกว่า สังคหะ คือ การสังเคราะห์ซึ่งประกอบด้วย

หนึ่ง ทาน หรือการให้ด้วยเมตตา กรุณา การแบ่งปัน

สอง ปิยวาจา การพูดการจาต่อกันโดยสุภาพไพเราะ ด้วยความหวังดี เป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจต่อกัน

สาม อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ เอากำลังกายของเราช่วยเหลือทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

และสี่ การวางตนอยู่ร่วมกับเขาให้เข้ากันได้ ให้กลมกลืนกันไป วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ มีความไม่ถือเนื้อถือตัวเป็นข้อสี่ เรียก สมานัตตตา

ความจริงหลักธรรมสังคหะนี้ เป็นเรื่องง่ายๆ พื้นๆ ที่เรารับรู้รับฟังมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อย ปัญหาคือเราไม่ทำกัน (ไม่นำมาปฏิบัติ) จึงไม่เกิดผลเป็นความรู้รักสามัคคี (ไม่เกิดปฏิเวธ)

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะให้ความรู้รักสามัคคีซึ่งอยู่ในระดับปฏิเวธเกิดขึ้น เราต้องสร้างเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม นั่นคือ ต้องมีการปฏิบัติทั้ง 4 ข้อ ในสังคหวัตถุ โดยคนในชาติ โดยเฉพาะผู้อยู่ในวัฏฏะของอำนาจในบ้านเมืองทั้งหลาย

ความจริงที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งของการที่เราแก้ปัญหาไม่ได้ นอกเหนือจากความพร่องในการสืบสาวหาเหตุปัจจัยแห่งปัญหาดังกล่าวแล้ว คือ ความขาดศักยภาพในการกำหนดรู้ตัวสภาวะปัญหา นั่นคือ ทำผิดซ้ำซากโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับว่าผิด (นี่คือส่วนหนึ่งที่ในหลวงได้ทรงปรารภให้ลดทิฐิ)
เมื่อไม่สามารถกำหนดรู้ตัวสภาวะปัญหาได้ ก็ไม่รู้จะไปไล่หาสาเหตุตรงไหน อย่างไร พระท่านว่าความเคยชินเป็นตัวบดบังปัญหา หรือการกำหนดรู้ตัวตัวปัญหา
เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดจะแก้ความหายนะของชาติที่กำลังเกิดขึ้นและจะมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น คงต้องฉีกตัวออกจากความเคยชิน พิจารณาความพร่องของตัวเองให้เห็น แล้วเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเอง
ตัวเองนะทำตัวเองให้ดี ถ้าทุกคนทำ สังคมดีเอง ถ้ามัวแต่ชี้นิ้วไปที่คนอื่น สังคมเราก็จะเป็นสังคมที่เดินไปสู่หายนะเหมือนสังคมนกเรดโรบินที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้
นาย Arie DeGeus ได้เล่าเรื่องนี้ในหนังสือชื่อ “The Living Company” ซึ่งได้อธิบายถึงพฤติกรรมที่ต่างกันของนก 2 ชนิด ที่มีผลต่อการวิวัฒนาการทางสังคมและเผ่าพันธุ์โดยรวม

นก 2 ชนิดนี้ คือ นกทิดเม้าส์ และ นกเรดโรบิน ซึ่งจัดเป็น songbird คือ มีเสียงร้องที่ไพเราะ

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นมสดที่ส่งตามบ้านในประเทศอังกฤษ เป็นขวดนมปากกว้างไม่มีฝาปิด โดยจะวางไว้ที่ประตูบ้านในตอนเช้ามืด พบว่านกทั้ง 2 ชนิดจะมาจิกกินครีมที่ลอยตัวขึ้นมาอยู่ส่วนบนของนม และได้ประโยชน์จากคุณค่าทางอาหารที่สูงของครีมนี้แก่ประชากรนกทั้งทิดเม้าส์และเรดโรบิน

การเรียนรู้วิธีดูดกินครีมนี้ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นความสำเร็จและเกิดผลในแง่วิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์ด้วย เพราะคุณค่าทางอาหารของครีมนี้สูงกว่าอาหารปกติที่มันกินอยู่ครีมนี้ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนในระบบการย่อยของมันต่อการใช้ประโยชน์อาหารที่ผิดไปจากปกติของมัน

ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ขวดนมทั้งหมดได้ถูกผนึกโดยฝาฟอยล์ หรือฝาอะลูมิเนียมบางๆ มาจนถึงช่วงต้นๆ ของทศวรรษ 1950 พบว่าประชากรของทิดเม้าส์ทั้งหมดในอังกฤษประมาณ 1 ล้านตัว ได้เรียนรู้การเจาะฝาขวดนมทุกตัว และทำให้ประชากรนกทิดเม้าส์ทั้งหมดได้ประโยชน์จากอาหารที่ดีนี้อย่างทั่วหน้า มันมีผลส่งให้มีความแข็งแกร่งต่อการอยู่รอดอย่างเป็นต่อ

ในทางตรงกันข้าม เรดโรบินเมื่อพิจารณาทั้งกลุ่มสายพันธุ์ของมัน ปรากฏว่าไม่สามารถเจาะฝาขวดนมเพื่อกินครีมได้ ทั้งนี้ ในบางครั้งเรดโรบินบางตัวได้เรียนรู้และค้นพบวิธีเจาะฝานม แต่ความรู้นี้ (Knowledge) ไม่เคยถูกถ่ายทอดไปให้เรดโรบินตัวอื่นๆ ในกลุ่มพันธุ์ของมัน

โดยย่อ นกทิดเม้าส์ได้ประสบความสำเร็จในขบวนการเรียนรู้ในระดับองค์กรอย่างดีเยี่ยมแต่สำหรับเรดโรบินเป็นความล้มเหลว ทั้งๆ ที่ได้มีนกเรดโรบินบางตัวมีความสามารถ มีความคิดเชิงนวัตกรรมได้เทียบเท่ากับนกทิดเม้าส์ ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างของความสำเร็จในขบวนการเรียนรู้ในระดับองค์กร ไม่ได้เกิดจากความแตกต่างในความสามารถของการสื่อสาร (ability to communicate) เพราะด้วยความเป็น Songbirds ทั้ง 2 ชนิด มีวิธีการสื่อสารแบบนกๆ ที่มากมายและไม่ต่างกัน
ไม่ว่าในเรื่องของสีตัว พฤติกรรม การเคลื่อนไหว และเสียงร้อง

คำอธิบายในเรื่องความแตกต่างนี้ได้ถูกอธิบายว่า “สามารถอธิบายได้จากเรื่องของ Social propagation เพียงอย่างเดียวว่า ทิดเม้าส์ได้กระจายทักษะ (อันเกิดจากนวัตกรรม) จากนกเพียงตัวเดียวผ่านไปยังสมาชิกนกทั้งหมดในประชากรของมัน”

ในฤดูใบไม้ผลิ ทิดเม้าส์จะอยู่เป็นคู่เพื่อเลี้ยงลูกน้อย เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ลูกนกโตและดูแลตัวเองได้ เราจะพบมันบินจากสวนหนึ่งไปอีกสวนหนึ่งเป็นฝูงๆ ฝูงละ 8-10 ตัว ทิดเม้าส์เหล่านี้จะคงอยู่ในฝูงของมันบินไปตามชนบท และระยะเวลาของ mobility นี้ยาวประมาณ 2-3 เดือน

ในทางตรงกันข้าม เรดโรบินเป็นนกที่อยู่แบบมีอาณาเขต เรดโรบินตัวผู้จะไม่ยอมให้ตัวผู้ตัวอื่นล่วงล้ำอาณาเขตของมัน ในการข่มขู่ตัวผู้อื่น เรดโรบินจะส่งสัญญาณเตือน สื่อเหมือนกับว่า “ไสหัวไปให้พ้นจากเขตของข้า” โดยปกติเรดโรบินจะสื่อสารกันในเชิงปะทะหรือหักหาญกัน (antagonistic manner) ประกอบกับการมีขอบเขตที่อยู่อาศัยที่ไม่ล้ำเส้นกัน

เขาได้สรุปว่า สังคมของนกทิดเม้าส์เป็นตัวแทนขององค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Society ด้วยคุณสมบัติพิเศษ 3 ประการ นั่นคือ

1.Innovation (นวัตกรรม) สัตว์จะเป็นตัวหนึ่งๆ หรือทั้งสังคมของมัน จะต้องมีความสามารถหรืออย่างน้อยมีศักยภาพที่จะคิดประดิษฐ์พฤติกรรมใหม่ๆ มันสามารถพัฒนาทักษะที่ทำให้มันสามารถใช้ประโยชน์สภาวะรอบๆ ตัวมัน โดยวิธีใหม่ๆ

2.Social propagation (การสื่อสารกันในสังคม) มันจะต้องมีวิธีการถ่ายทอดทักษะจากสัตว์ตัวหนึ่งๆ ไปยังตัวอื่นๆ ในสังคม ทั้งนี้ ไม่ใช่ผ่านทางพันธุกรรม แต่เป็นการสื่อสารกันตรงๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง

3.Mobility (การเคลื่อนที่ไปมา) สัตว์เหล่านั้นจะต้องมีความสามารถในการเคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น มันใช้ความสามารถอันนี้ไปโดยการเคลื่อนไปเป็นฝูง มากกว่าการอยู่อย่างเดี่ยวๆ ในอาณาเขต (territories) ที่อยู่กันห่างๆ

บทสรุป ถ้าเราเอาหลักสังคหวัตถุมาจับ จะพบว่านกทิดเม้าส์ได้มีเหตุปัจจัยทั้ง 4 อย่างทั่วหน้า ส่งผลเป็นสังคมที่รู้รักสามัคคี และผลพวงนี้ได้เป็นเหตุปัจจัยต่อให้สังคมมีความก้าวหน้า เกิดประโยชน์ต่อประชากรอย่างทั่วหน้าในนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เพราะโครงสร้างของสังคมเป็น leaning society

ส่วนนกเรดโรบินมีความพร่องในสังคหวัตถุ 4 ทุกข้อ เป็นเหตุปัจจัยให้ความรู้ดีๆ หรือนวัตกรรมที่เกิดมีขึ้นคงอยู่เฉพาะตัว ไม่มีกลไกของสังคมที่จะถ่ายทอดให้กว้างกระจายและเป็นประโยชน์แก่ประชากรทั้งมวล

ถ้าสังคมของเรดโรบินฟองสบู่แตกแบบสังคมไทย ความเลวร้าย หายนะและความล่มสลายของประชากรของมันคงจะเด่นชัดขึ้น เราจะให้สังคมของเราเป็นแบบทิดเม้าส์หรือเรดโรบิน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image