คอลัมน์ Think Tank: นโยบายลูก2คน ยังไม่เห็นผลในเร็ววัน

REUTERS/Damir Sagolj

ผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า การยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวของจีนเมื่อปีที่แล้วจะไม่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วในแบบที่รัฐบาลจีนต้องการ

โดยผลประโยชน์ใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายใหม่ที่กำหนดให้มีลูก 2 คนได้ ในการช่วยแก้ปัญหาจำนวนประชากรในวัยทำงานที่ลดลงและการแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จะเริ่มปรากฏออกมาอย่างเร็วที่สุดในอย่างน้อยอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า

จีนต้องเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์อย่างลึกล้ำ สาเหตุเป็นเพราะการบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวที่เข้มงวดจนบางครั้งถึงขั้นโหดร้าย

“นโยบายใหม่ที่กำหนดให้มีลูกได้ 2 คนจะช่วยในการแก้ปัญหาอัตราส่วนทางเพศที่บิดเบี้ยว” เธอรีส เฮสเกธ นักวิจัยของยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน ในประเทศอังกฤษผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์แลนเซตระบุ

Advertisement

นอกจากนี้ นโยบายลูก 2 คน ยังช่วยลดจำนวนการทำแท้งผิดกฎหมายจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตและแก้ปัญหาเด็กที่เกิดมาแล้วไม่ได้ลงทะเบียน

ทว่าผลประโยชน์ในการแก้ปัญหาสังคมประชากรสูงอายุและคนวัยทำงานลดน้อยลงจะต้องใช้เวลานานกว่านี้ถึงจะเริ่มเห็นได้

ข้อมูลของรัฐบาลจีนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระบุว่า จีนมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีอยู่ 220 ล้านคน คิดเป็นมากกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยประชากรวัยทำงานจะลดลงมากถึง 23 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050

อายุที่กำหนดไว้สำหรับการเกษียณในจีนอยู่ที่ 55 ปีสำหรับผู้หญิงและ 60 ปีสำหรับผู้ชาย

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ที่ 1.37 พันล้านคนจากข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2015 นโยบายลูกคนเดียวมีการประกาศใช้ในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อปี 1979 เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ

ผลที่ออกมาเห็นได้ชัดเจนมาก อัตราการให้กำเนิดลูกของผู้หญิง 1 คนลดลงจาก 5.9 คนในปี 1970 มาอยู่ที่ราว 1.6 คน ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990

มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องความไม่สมดุลระหว่างเพศชายและหญิง แต่บรรดาผู้นำจีนลังเลที่จะล้มเลิกนโยบายลูกคนเดียว เนื่องจากเกรงว่าจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรแบบที่ไม่สามารถควบคุมได้

และในการออกมาตรการที่เป็นการประนีประนอม ทางการยินยอมให้พ่อแม่ที่ตนเองเป็นลูกคนเดียว มีลูกได้ 2 คน แต่นับถึงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 มีคู่แต่งงานเพียง 1.45 ล้านคู่ หรือคิดเป็นไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้าเกณฑ์ข้อนี้ ยื่นคำขอมีลูกคนที่ 2

ทำให้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทางการจีนได้ประกาศให้ใช้นโยบายนี้อย่างครอบคลุมในวงกว้าง

หนึ่งในผลกระทบที่ผิดธรรมชาติของนโยบายลูกคนเดียวที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีอัลตราซาวด์คือ การเพิ่มจำนวนการทำแท้งทารกในครรภ์ที่เป็นเพศหญิง

จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ จะทำให้มีผู้ชายชาวจีนที่ไม่ได้แต่งงานในปี 2020 มากถึง 30 ล้านคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image