สภาเกษตรสมุทรสงครามวอนภาคอุตฯต้องมีหลักฐาน หลังถูกหาว่าร่วมทำปลากระเบนตาย

วันที่ 24 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากหลายหน่วยงาน พบว่าปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองตายเพราะน้ำกากส่าของโรงงานเอทานอลราชบุรีรั่วไหล พบสารแอมโนเนียสูงเกิน 18 เท่า และนายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมอบให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สมุทรสงคราม รวบรวมความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำแม่กลองพื้นที่สมุทรสงครามเสนอกรมควบคุมมลพิษเพื่อกล่าวโทษโรงงาน และให้สำนักงานประมง จ.สมุทรสงคราม รวบรวมความเสียหายด้านปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำตามธรรมชาติในแม่น้ำแม่กลองพื้นที่สมุทรสงครามเสนอกรมประมง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ร.ท.พัชโรดม อุนสุวรรณ ประธานชมรมอนุรักษ์ปลากระเบนจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ในส่วนของชมรมอนุรักษ์ปลากระเบนราหูจังหวัดสมุทรสงครามไม่ใช่นิติบุคคล จึงไม่สามารถดำเนินการฟ้องเรียกร้องความเสียหายกับผู้ก่อเหตุได้ จึงต้องหวังพึ่งกลไกภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายที่ทำให้ปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองตาย และพบซากปลากระเบนที่ตายถึง 46 ตัว อีกทั้งสภาพแวดล้อมในแม่น้ำแม่กลองที่เสียหายประเมินค่าไม่ได้ ยังส่งผลกระทบต่อหอยหลอดตายจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าการประเมินความเสียหายของสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือปลากระเบนราหูที่ตาย ซึ่งพบซากเป็นหลักฐาน 46 ตัวนั้น ปลากระเบนราหูไม่ใช่สัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ จึงยากที่จะประเมินมูลค่า แต่มีคุณค่าทางสภาพแวดล้อม จึงต้องฝากกรมประมงพิจารณาจากข้อเท็จจริง

“ในส่วนของหอยหลอดที่ตายจากปัญหาน้ำเสีย ก็คงต้องคำนวณว่าหอยหลอดตายในพื้นที่กี่ไร่ ใน 1 ไร่ มีหอยหลอดกี่กิโลกรัม แล้วจึงมาคำนวณความเสียหายทั้งหมดว่ากี่กิโลกรัม นำมาคูณกับราคาหอยหลอดปัจจุบันกิโลกรัมละประมาณ 80 บาท ขณะที่ปลากะพงที่ชาวประมงเลี้ยงในกระชังตายจำนวนมาก คงจะคำนวณความเสียหายไม่ยาก เพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งคงชัดเจนในวันที่ 25 ต.ค.2559 ซึ่งจะมีการประชุมชาวประมงเลี้ยงปลากะพงในกระชัง ที่สหกรณ์ประมงแม่กลองจำกัด” ร.ท.พัชโรดมกล่าว

นายชัยยันต์ อยู่ศิริ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จากกรณีที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงอุตสาหกรรมบางรายที่บอกว่าปลากระเบนตายจำนวนมากคงไม่ได้เกิดจากน้ำเสียรั่วไหลเพียงอย่างเดียว ยังเกิดจากอีกหลายสาเหตุ โดยเฉพาะสารพิษจากยาฆ่าแมลงจากการทำเกษตรกรรม บริเวณ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี อ.อัมพวา และ อ.บางคนที จ.สมุทรสงครามนั้น ตนไม่ได้ต้องการสร้างปัญหา แต่อยากให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงของประเทศไทยที่ทำการเกษตรมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเฉพาะ จ.สมุทรสงคราม ที่มีการเพาะปลูกภาคการเกษตรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในแม่น้ำแม่กลองก็ยังไม่ได้ทำน้ำเสีย สร้างความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม และยังไม่ปรากฏว่าพบปลากระเบนราหูตาย  แม้ว่าหลายปีก่อนจะเกิดน้ำเสีย ทำให้ปลาในแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงปลากะพงในกระชังลอยหัวตายจำนวนมาก ก็ยังไม่พบปลากระเบนราหูตายมากมายเหมือนในปีนี้

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของแต่ละบุคคลเป็นเรื่องปกติที่ต่างคนต่างมองหลายๆ ด้าน  แต่ก็ควรจะมีข้อมูลทางวิชาการมารองรับ ไม่ใช่มากล่าวหากันลอยๆ ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแม้แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องช่วยกันหาข้อเท็จจริง และมาวิเคราะห์สารเคมีที่ทำให้ปลากระเบนตายให้ชัดเจน เพื่อหาแนวทางในการป้องกันเหตุซ้ำรอยในอนาคต อย่างไรก็ตาม วิกฤตปลากระเบนราหูตายจำนวนมากในแม่น้ำแม่กลองถือเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ชาวสมุทรสงครามและคนไทยทั้งประเทศหันมาเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นายชัยยันต์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image