มีชัย จ่อตั้งกฎเหล็กสกัดคนนอกบงการพรรค เปิดช่องส.ส.ร้องศาลหากโดนพรรคบีบโหวต

“มีชัย” ร่างกม.หวังตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น ยัน ไม่คิดรีเซตพรรคเกรงยุ่งยาก จ่อตั้งกฎเหล็กสกัดคนนอกบงการ เปิดช่องส.ส.ร้องศาลให้คุ้มครองได้หากโดนบีบโหวต

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เป็นประธานการประชุม โดยเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ร่วมหารือถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งนี้ นายมีชัย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า เรื่องวิธีการจัดตั้งพรรคการเมืองจากร่างที่กกต.ส่งมาให้จะทำเป็นสองขยัก คือ จดทะเบียนจองก่อน แล้วค่อยรวบรวมตั้งพรรค แต่กรธ.จะให้ทำเป็นขยักเดียวได้คือ มีสมาชิก 500 คนก็ทำได้เลย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างแท้จริง เมื่อรวบรวม 500 คนแล้ว แต่ละคนต้องจ่ายเงินเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมืองในการทำกิจกรรม และยังเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของพรรคด้วย ส่วนค่าสมาชิกพรรคก็ให้เก็บไปตามปกติ เรื่องเงินอุดหนุนพรรคจาก กกต.จะยังมีอยู่ แต่จะเอาเงินไปทำอะไร ก็ต้องอยู่ในกรอบ ถ้ามีการใช้เงินก็ต้องรายงานให้ กกต.ทราบ หากนำเงินไปใช้แบบผิดๆ หรือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว กกต.ก็สามารถทักท้วงได้ การทำแบบนี้จะทำให้คำนวณเรื่องเงินของพรรคได้ง่ายขึ้น เพราะทุกอย่างต้องอิงกับสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตาม ถ้าหากตรวจพบมีการใช้เงินในทางที่ไม่ถูกต้องคณะกรรมการบริหารพรรคก็จะพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกตัดสิทธิ์ตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้

นายมีชัย กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองควรจะมีสมาชิกในแต่ละจังหวัด และอาจจะต้องตั้งสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา แต่หากจังหวัดไหน มีสมาชิกมากกว่าเกณฑ์ที่เรากำหนด เช่น 200 คน ก็ต้องตั้งตัวแทนพรรคไว้ที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อเป็นตัวแทนเลือกผู้บริหารหรือผู้สมัครส.ส. ส่วนประเด็นการเซตซีโร่ หรือ รีเซตผู้บริหารพรรคการเมือง ยังไม่ได้พูดกัน ว่าจะไปรีเซตอะไรเขา ต้องดูลักษณะที่มาของผู้บริหารพรรคตามกฎหมายใหม่นี้เสียก่อน เช่น หากมีข้อกำหนดเจาะจงว่า ประกอบด้วยใครบ้าง หากเขายังขาด อาจต้องไปเลือกมาเพิ่ม โดยคุณสมบัติขั้นพื้นฐานอย่างน้อยที่สุด คือ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ ไม่มีลักษณะต้องห้าม เพราะผู้บริหารพรรคต้องคลีนพอสมควร แต่ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ซึ่ง กรธ.จะพยายามไม่ไปรีเซ็ตอะไรใคร เพราะยุ่งยากด้วยกันทั้งปวง หากผู้บริหารพรรคมีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปยุ่ง เช่น หัวหน้าพรรคเขาดีอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้ว่า ไม่ต้องไปบังคับหากเขาจะทำใหม่ก็แล้วแต่เขา ในชั้นนี้เรายังไม่ได้นึกว่าต้องเขียนบทเฉพาะกาลหรือทำอะไรกับประเด็นนี้

เมื่อถามถึงเรื่องการลาออกจากพรรคการเมือง นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าสมาชิกพรรคการเมืองสามารถจะลาออกได้หากต้องการจะย้ายไปสมัครอยู่กับพรรคการเมืองอื่น ถ้าเขามีคุณสมบัติตามที่พรรคนั้นๆต้องการ ขอยืนยันว่า กรธ.ได้เขียนหลักการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆเข้ามาบงการกับการทำงานของพรรคการเมืองแล้ว ส่วนจะดูอย่างไรว่า จะเป็นการบงการพรรคนั้นก็ไปให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ส่วนเรื่องการยุบพรรคจะมี 2 กรณีคือ 1.สิ้นสภาพพรรคการเมือง และ 2. ถูกยุบพรรคการเมือง การถูกยุบนั้น ก็จะเป็นเฉพาะกรณีที่พรรคนั้นมีนโยบายที่ต่อต้านต่อระบอบการปกครองหรือกรณีที่ใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ ส่วนความผิดเรื่องการบงการพรรคนั้นก็เป็นความผิดเฉพาะตัวซึ่งสามารถลามไปถึงความผิดของผู้บริหารพรรคได้ด้วยหากผู้บริหารพรรคการเมืองทำตามคำบงการนั้น

Advertisement

นายมีชัย ยังกล่าวถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เสรีภาพในการออกเสียงของส.ส.ว่า ข้อบังคับและมติของพรรคจะต้องไม่ขัดต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส. แต่ไม่ได้เขียนเจาะจงเพราะไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นพรรคการเมืองยังสามารถมีมติขับส.ส.ออกจากพรรคได้ตามกฎเกณฑ์ของแต่ละพรรค ส่วนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีจะถือว่า เป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของส.ส.หรือไม่นั้นในรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น หากเกิดกรณีที่ว่าพรรคการเมืองมีมติแต่ส.ส.ไม่ปฏิบัติตาม พรรคการเมืองก็ต้องไปขับไล่กันเอง เพราะยังมีอำนาจตามสมควร แต่ถ้าส.ส.คิดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเห็นว่า เป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถไปร้องต่อศาลให้คุ้มครองชั่วคราวและเพิกถอนได้ โดยตนจำไม่ได้ว่า เป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองสูงสุด หากศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ข้อบังคับนั้นก็จะตกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image