กรมพัฒน์ฯ เตรียมคลอดข้อมูลจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจแบบเรียลไทม์กลางปีหน้า

นางวิมลรัตน์ เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กำลังดำเนินการพัฒนาระบบใหม่ในการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการจดทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เข้าถึงเงินทุนได้โดยตรง สามารถนำทรัพย์สินบางอย่างที่เดิมใช้ขอสินเชื่อไม่ได้ มาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามาพัฒนาระบบแล้ว ซึ่งจะพัฒนาให้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2560

“ระบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาจะมีระบบอีเพย์เม็นต์รองรับการจ่ายค่าธรรมเนียม จากเดิมที่ไม่มีระบบนี้ มีเพียงการจ่ายค่าธรรมเนียมแบบออกใบเสร็จ และระบบใหม่จะการส่งข้อมูลการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจจากกรมฯไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ ให้กับกรมที่ดิน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมบังคับคดี เป็นต้น จากเดิมที่ต้องส่งข้อมูลระหว่างกันเป็นเอกสาร ในระหว่างที่พัฒนาระบบให้เสร็จสมบูรณ์ ก็จะทยอยทำระบบบางส่วนให้ใช้งานได้ก่อน เช่น ระบบอีเพย์เม็นต์ ให้ใช้การได้ในต้นปี 2560”นางวิมลรัตน์กล่าว และว่า ปัจจุบันการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เฉลี่ยแล้วใช้เวลาในการจดต่อ 1 คำขอ ประมาณ 15 นาที แต่ระบบใหม่ตั้งเป้าหมายว่าการจดต่อ 1 คำขอสามารถทำให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีไปจนถึงแบบเรียลไทม์

นางวิมลรัตน์ กล่าวถึงข้อมูลล่าสุดในการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจว่า ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม – 21 ตุลาคม 2559 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 93,518 คำขอ มีมูลค่า 1,047,713 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญาเดิม (Batch File) จำนวน 36,165 คำขอ มูลค่า 128,220 ล้านบาท และสัญญาที่เกิดระหว่างวันที่ 4 กรกฎาคม-ตุลาคม 2559 จำนวน 57,353 คำขอ มูลค่า 919,493 ล้านบาท มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสัญญาหลักประกันฯ จำนวน 5,166 คำขอ มูลค่า 68,423 ล้านบาท และมีการจดทะเบียนยกเลิกสัญญาหลักประกันฯ จำนวน 1,039 คำขอ มูลค่า 7,711 ล้านบาท สำหรับประเภททรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนฯ ประกอบด้วย 1.สิทธิเรียกร้อง มีสัดส่วน 79.6% ของที่จดทะเบียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 833,731 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น บัญชีเงินฝากธนาคาร 725,575 ล้านบาท สิทธิการเช่า 7,173 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย และสัญญาเช่าซื้อ รวมกัน 100,983 ล้านบาท และ 2. สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ มีสัดส่วน 20.4% มูลค่า 213,982 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น สินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ 166,360 ล้านบาท และเครื่องจักร/รถยนต์/เรือ 47,622 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image