ตามรอยพระยุคลบาท’ทันตสาธารณสุข’เพื่อชาวไทย

หมายเหตุ – นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ถึงการน้อมนำพระราชดำรัสด้านทันตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแวดวง “ทันตสาธารณสุขไทย” โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เดินตามรอยพระยุคลบาทดำเนินการทั้งการรักษา และการดูแลป้องกันอย่างครบวงจร

จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”

“จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้รวมพลังดำเนิน ‘โครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ตั้งแต่ปี 2548 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันเทียมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นพ.โสภณให้ข้อมูลพร้อมกับระบุว่า ต่อมาในปี 2551 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดให้บริการใส่ฟันเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“ดังนั้น ในปี 2554 กรมอนามัย จึงได้ร่วมกับ สปสช.ดำเนิน ‘โครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมเพิ่มขึ้น ทั้งบริการใส่ฟันเทียมบางส่วนและใส่ฟันเทียมทั้งปาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

Advertisement

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 6 ปี ระหว่างปี 2554-2559 มีผู้เข้ารับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก จำนวน 243,208 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 191,836 คน จากข้อมูลนี้เห็นได้ว่า ในจำนวนผู้รับการใส่ฟันทั้งหมดมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่รับการใส่ฟันเทียมเกินกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นไปตามเป้าหมายโครงการที่วางไว้” นพ.โสภณระบุ

ขณะที่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าเรื่องทันตกรรมนั้น กรมอนามัยได้น้อมนำพระมหากรุณาธิคุณของ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระมารดาแห่งวงการทันตแพทย์ไทย พระองค์ทรงห่วงใย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารจะเข้าไม่ถึงการรับบริการด้านทันตกรรม จึงเกิดหน่วยทำฟัน มีทันตภิบาลดูแลทั้งเชิงป้องกัน และดูแลสุขภาพช่องปากพื้นฐานง่ายๆ ทุกตำบลทั่วประเทศ

“ปัจจุบันมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถให้บริการทันตกรรม โดยทันตบุคลากรแล้วถึงร้อยละ 60 ส่วนใหญ่จะเป็น รพ.สต.ที่ดูแลประชากรในพื้นที่ประมาณ 7,000 คนขึ้นไป แต่ รพ.สต.ขนาดเล็กๆ จะรวมกลุ่มกัน เพื่อจัดบริการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้สืบสานปณิธานในเชิงการให้บริการทันตกรรมอย่างทั่วถึง ครอบคลุมประชากรทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มด้อยโอกาส” นพ.วชิระบอก และว่า ที่สำคัญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านสืบสานพระบรมราชชนนี โดย 10 ปีที่แล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการรากฟันเทียมในช่วงปี 2548 เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุมีปัญหาฟันหายหมดทั้งปากถึง 3 แสนคนจากพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ทางกระทรวงจะสืบสานปณิธานและจะขยายการครอบคลุมการบริการทันตกรรมให้มากยิ่งขึ้น อย่างโครงการฟันเทียมพระราชทาน จะดำเนินการจัดทำให้มากยิ่งขึ้น ใครที่ตกหล่นจะดำเนินการให้เสร็จ และยังมีแผนดำเนินการด้านทันตกรรม 20 ปี โดยพบว่าผู้สูงวัยอายุ 72 ปีฟันต้องเหลือ 24 ซี่ และเหลือ 4 คู่สบ ซึ่งเป็นคู่สบที่มีความสำคัญในการบดเคี้ยวอาหาร

Advertisement

“10 กว่าปีที่แล้วมีผู้สูงอายุฟันหายทั้งปากไป 3 แสนกว่า ไม่มีที่เกาะเกี่ยว ต้องใส่รากใหม่จึงจะทำฟันเทียมได้ ดังนั้น โครงการรากฟันเทียมจะเดินหน้าต่อ ซึ่งในปี 2560 จะทำให้เข้มข้นขึ้น พร้อมทั้งเน้นการทำงานเชิงป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน เพราะการดูแลฟันตั้งแต่แรกจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เนื่องจากเด็กจะเริ่มฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน แต่พ่อแม่มักไม่ทราบ ทราบแค่เด็กกินข้าวยาก ซึ่งต้องหมั่นสังเกต ซึ่งการกินข้าวยาก นอกจากมีปัญหาเรื่องฟันแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาการ การเจริญเติบโตของร่างกาย จึงต้องรณรงค์ตั้งแต่ขวบปีแรก” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

ทันตสาธารณสุข1

จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศเมื่อปี 2555 โดยได้แบ่งออกเป็นกลุ่มอายุต่างๆ ดังนี้

เด็กอายุ 3 ปี ซึ่งเป็นขวบปีแรกที่มีฟันน้ำนมครบ 20 ซี่ มีความชุกในการเกิดโรคฟันผุร้อยละ 51.8 มีค่าเฉลี่ย ฟันผุ ถอน อุด 2.7 ซี่ต่อคน เกือบทั้งหมดเป็นรอยโรคฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา คือร้อยละ 50.6 หรือเฉลี่ย 2.6 ซี่ต่อคน ปัญหาสำคัญที่ยังต้องการการดูแลเพิ่มเติม คือ การแปรงฟัน เพราะผู้ปกครองของเด็ก 3 ปี ถึงร้อยละ 55.8 ยังปล่อยให้เด็กแปรงฟันด้วยตนเอง มีเด็กเพียง ร้อยละ 44.2 ที่มีผู้ปกครองช่วยดูแลการแปรงฟันให้

เด็กอายุ 5 ปี พบว่าสถานการณ์และการกระจายของโรคเป็นไปในรูปแบบเดียวกันกับการเกิดโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปี แต่อัตราการเกิดโรคฟันผุสูงกว่าชัดเจนมาก ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีโดยในภาพรวมประเทศพบอัตราการเกิดโรคฟันผุสูงถึงร้อยละ 78.5 มีค่าเฉลี่ยฟันผุถอน อุด 4.4 ซี่ต่อคน

เด็กอายุ 12 ปี มีประสบการณ์โรคฟันผุ ร้อยละ 52.3 มีค่าเฉลี่ยฟันผุถอน อุด 1.3 ซี่ต่อคน เป็นฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 29.1 จากการสัมภาษณ์ ร้อยละ 41.7 ระบุว่าเคยปวดฟันในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอาการเจ็บปวด อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็ก โดยเด็กร้อยละ 6.3 ระบุว่าเคยหยุดเรียน เนื่องมาจากอาการปวดฟัน เฉลี่ยหยุดเรียน 1.3 วัน

จากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 พบเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี มีประสบการณ์โรคฟันผุ ร้อยละ 54.7 ดื่มน้ำหวานและดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36 และร้อยละ 32 ในปี 2558 เป็น ร้อยละ 57.9 และร้อยละ 49.7 ในปี 2559 ตามลำดับ ขณะที่เด็กกินขนมและเครื่องดื่มระหว่างมื้ออาหารสูงร้อยละ 62.9 ด้านพฤติกรรมการแปรงฟัน พบเด็กมีพฤติกรรมการแปรงฟันก่อนนอนร้อยละ 78

กลุ่มวัยทำงานและสูงอายุ ยังมีแนวโน้มการสูญเสียฟันจากโรคในช่องปาก จากกลุ่มวัยทำงานที่มีฟันแท้เฉลี่ย เหลือ 28.3 ซี่ต่อคน เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมีฟันแท้เหลือในปาก เฉลี่ยเพียง 18.8 ซี่ต่อคน เพื่อประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวที่ดีผู้สูงอายุควรมีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ ซึ่งทั้งประเทศ มีร้อยละ 57.8 ในผู้สูงอายุ 80-89 ปีพบมีฟันแท้ใช้งานอย่างน้อย 20 ซี่ ประมาณ 1 ใน 4 คือ ร้อยละ 23.5

เมื่อปี 2543-2544 ได้สำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ พบว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49 ของผู้สูงอายุมีฟันใช้งานได้ 20 ซี่ขึ้นไป มีการสูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 8.2 และจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากร้อยละ 5.3 หรือเท่ากับ 300,000 คน นั่นเอง

“จากปัญหาคนผู้สูงอายุที่มีฟันหมดปากถึง 3 แสนคน ณ ช่วงเวลานั้น จะพบว่าจะสามารถช่วยเหลือใส่รากฟันเทียมได้ปีละ 3,000 คน ซึ่งหากทำเช่นนี้ต้องใช้เวลาถึง 100 ปีจึงจะทำครบ เนื่องจากยังขาดเรื่องบุคลากร แต่เมื่อมีพระราชดำริจากพระองค์ท่าน ได้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตทันตแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้จ่ายงบประมาณ และกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดบริการ จนทำให้สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาได้โดยไม่ต้องถึง 100 ปี และด้วยแรงผลักดันจากพระองค์ท่าน กรมอนามัยจะเดินหน้าต่อไปในการน้อมนำพระราชดำรัส พร้อมทั้งจะเน้นการดูแลป้องกันโรค โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปี ผู้สูงอายุไทยอายุตั้งแต่ 72 ปี จะต้องมีฟัน 24 ซี่ และมีฟัน 4 คู่สบสำหรับบดเคี้ยว ซึ่งการจะทำตามเป้าหมายได้ จะต้องดูแลป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง” นพ.วชิระกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในแวดวงทันตแพทย์ยังมีเรื่องเล่าจาก ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ เกี่ยวกับหลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยวันหนึ่ง หลังจากทำพระทนต์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่ง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการประหยัด จึงได้กราบบังคมทูล ถึงนิสิตนักศึกษา เดี๋ยวนี้ไม่ประหยัด ชอบใช้ของ Brand name ไม่มีเงินซื้อก็เช่ามาใช้ ไม่เหมือนสมเด็จพระเทพฯ ที่ท่านทรงถือกระเป๋าราคาถูก ใช้ของถูกๆ ไม่ต้องมียี่ห้อ และเคยเห็นหลอดยาสีพระทนต์ ของสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงใช้จนหมด หลอดแบนราบ พระองค์ท่านรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็มี และทรงเล่าว่า “วันหนึ่ง มหาดเล็กห้องสรง นึกว่า ยาสีฟันหมดแล้ว นำไปทิ้ง และนำหลอดใหม่มาถวาย ท่านทรงเรียกให้เอามาคืน ว่ายังทรงใช้ต่อได้อีก 5 วัน” ท่านผู้หญิงเพ็ชรา จึงขอพระราชทานมาให้ลูกศิษย์ และคณาจารย์ และทันตแพทย์ได้ดูเป็นตัวอย่างแห่งความประหยัดนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image