จำนวนสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงมากกว่าครึ่งในรอบ 40 ปี

ROGER LEGUEN / WWF

บีบีซีและเอเอฟพีรายงานว่า ผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมระบุว่า เกือบ 3 ใน 5 ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ปลา นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถูกทำให้หายไปโดยความกระหายและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

รายงานราย 2 ปี ฉบับดังกล่าวในชื่อ “ดาวเคราะห์สำหรับอยู่อาศัย” ที่เป็นการจัดทำร่วมกันของกองทุนสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) และ สมาคมสวนสัตว์แห่งลอนดอน (แซดเอสแอล) 2 องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ เตือนด้วยว่า ด้วยแนวโน้มในปัจจุบัน จำนวนของสัตว์ป่าทั่วโลกอาจลดลง 2 ใน 3 ภายในปี 2563 หรือคิดเป็นลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์
เหตุผลดังกล่าวไม่น่าแปลกใจ จากการที่มนุษย์แทบจะเป็นสัตว์เพียงสายพันธุ์เดียวที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่า 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา มาอยู่ที่ 7.4 และจากพฤติกรรมการกิน การล่า การรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัย การซื้อขายสัตว์ป่า มลพิษและภาวะโลกร้อน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตร่วมโลกชนิดอื่นๆ ลดจำนวนลงอย่างมาก

ผลการศึกษาวิจัยมาจากการเฝ้าติดตามดูสัตว์มีกระดูกสันหลัง 3,700 สายพันธุ์ที่กระจายอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน 14,000 แห่งทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงการลดจำนวนประชากรสัตว์ในแหล่งที่อยู่อาศัยดังกล่าวและพบว่านับตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา ประชากรสัตว์โดยเฉลี่ยลดลง 58 เปอร์เซ็นต์

ดร.ไมค์ บาร์เร็ตต์ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์และนโยบายของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมีสัตว์บางสายพันธุ์ที่ลดจำนวนลงมากอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์สายพันธุ์ที่ต้องอยู่อาศัยหรือพึ่งพาแหล่งน้ำจืด โดยสัตว์ที่อยู่อาศัยในน้ำจืดลดจำนวนลงด้วยอัตรา 81 เปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่ปี 2503 สาเหตุมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งน้ำจืดของมนุษย์และการแยกระบบแหล่งน้ำจืดอาทิการสร้างเขื่อน

Advertisement

ขณะที่รายงานฉบับก่อนหน้านี้ที่ตีพิมพ์เมื่อปีเมื่อปี 2557 ระบุว่าประชากรสัตว์ป่าลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงเวลา 40 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image