พระบารมีคุ้มเกล้าฯ พระอัจฉริยภาพด้านกฎหมาย โดยธานินทร์ กรัยวิเชียร

เมื่อผมพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2520 ช่วงนั้นลังเลใจอยู่เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ผมไม่ได้คิดจะกลับไปเป็นผู้พิพากษาอีก แม้จะผูกพันกับวงการนี้มาช้านาน เหตุเพราะได้ตัดสินใจลาออกมาเพื่อทำงานทางการเมืองแล้ว จึงปรึกษาหารือกับสมัครพรรคพวกว่าจะตั้งสำนักงานทนายความดีหรือไม่ แต่ยังไม่ทันได้ลงมือทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่าง ผมก็ได้รับทราบข่าวอันเป็นมงคลสูงสุดแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูลคือ ผมได้รับพระราชทานพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2520

พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเบื้องพระยุคลบาทมาช้านาน ทำให้ผมตระหนักในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การพัฒนา การเกษตร ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การกีฬา ภาษาไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพด้านกฎหมาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นนักกฎหมายโดยวิชาชีพ แต่ทรงเข้าถึงแก่นแท้และจิตวิญญาณของกฎหมายอย่างแท้จริง พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผมอยู่เสมอ จากพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในคดีต่างๆ หรือจากพระราชกระแสเกี่ยวกับปัญหาทางด้านกฎหมายที่พระราชทานให้คณะองคมนตรีพิจารณา นอกจากนี้ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานในหลายโอกาสยังแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่นักกฎหมายและบุคคลทั่วไปถึงพระอัจฉริยภาพทางกฎหมายอันลึกซึ้งยิ่งนัก ซึ่งเราอาจเรียนรู้อุดมการณ์ เจตนารมณ์ และหลักการของกฎหมาย ตลอดจนข้อบกพร่องของกฎหมาย หรือแม้กระทั่งข้อจำกัดของผู้ใช้กฎหมายจากพระองค์ได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงชี้ทางสว่างให้นักกฎหมายได้เห็นช่องทางที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งในตัวบทกฎหมายและในตัวนักกฎหมายเอง

Advertisement

พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายเรื่องหนึ่งที่ประทับอยู่ในดวงใจของผมตลอดมาคือพระราชดำริในเรื่องความยุติธรรม อันความยุติธรรมนี้นักกฎหมายทุกคนทราบดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นสุดยอดแห่งความยากที่จะวินิจฉัยว่าสิ่งใดยุติธรรม สิ่งใดไม่ยุติธรรม ในหมู่นักกฎหมายด้วยกันเองยังมีข้อถกเถียงกันได้อย่างไม่จบสิ้น

อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญในระบบกฎหมายไทยตั้งแต่ได้มีการปฏิรูประบบกฎหมายในครั้งรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบันคือ เราถือตามหลักระบบกฎหมายอังกฤษที่ว่า “ตัวกฎหมายนั่นแหละคือความยุติธรรม” ดังนั้น แม้จะเห็นกันทั่วไปว่ากฎหมายบทนั้นบทนี้ไม่ยุติธรรม ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมนั้น จนกว่าจะได้แก้ไขกฎหมายนั้นเสียก่อน

สำหรับในเรื่องนี้ มีพระบรมราโชวาทองค์หนึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมกับกฎหมาย ซึ่งให้แง่คิดที่ควรใคร่ครวญและศึกษาอย่างลึกซึ้งคือ

“…กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้นๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงอีกสถานหนึ่ง

โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ในเรื่อง “ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย” นี้สอดคล้องต้องกันอย่างยิ่งกับสามัญสำนึก “ความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้…”

แนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ในเรื่อง “ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย” นี้สอดคล้องต้องกันอย่างยิ่งกับสามัญสำนึก เรื่องนี้หากไม่เห็นคดีที่เกิดขึ้นจริงในศาล อาจนึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างที่แสดงได้อย่างชัดเจนว่าความยุติธรรมต้องมาก่อนกฎหมาย คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว มีหญิงชราอายุ 80 ปี หวังจะฝากผีฝากไข้ไว้กับหลานชายซึ่งเป็นญาติคนเดียวที่ตนมีเหลืออยู่ จึงยกทรัพย์สินที่ตนมีทั้งหมดให้กับหลานชาย ต่อมาหลานชายแต่งงานและมีบุตรกับหลานสะใภ้ 2 คน ระหว่างอยู่กินกับหลานสะใภ้นี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นหลานชายตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ถ้าถือตามกฎหมายลักษณะมรดกในขณะนั้นคือหลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” ภรรยากับบุตรของหลานชายจะเป็นผู้ได้รับมรดกทั้งหมด ส่วนยายไม่ได้รับอะไรเลย ศาลฎีกาคิดไม่ตกว่าจะตัดสินอย่างไรดีเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ยาย เพราะหากตัดสินเคร่งครัดไปตามกฎหมาย ยายคงอดตายเป็นแน่แท้ แต่การจะตัดสินคดีเกินไปกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ไม่สามารถทำได้ ศาลฎีกาจึงขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกฎหมายขณะนั้นเปิดช่องให้ทำได้ พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาว่า ทรัพย์มรดกส่วนที่เกิดจากหลานชายกับหลานสะใภ้ทำมาหาได้ร่วมกัน ให้แบ่งกันระหว่างหลานสะใภ้กับบุตร 2 คน ส่วนทรัพย์มรดกส่วนที่เป็นทรัพย์สิน ที่ยายยกให้หลานชายนั้นให้แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากัน ให้ยายกับหลานสะใภ้คนละครึ่ง พระราชทานความยุติธรรมให้แก่ยายได้ในที่สุด และมีพระบรมราชวินิจฉัยในคดีนี้ตอนหนึ่งว่า

“…การที่เจ้าแผ่นดินใช้อำนาจเกินกฎหมายแต่ไม่เกินกำหนดพระบรมเดชานุภาพของเจ้าแผ่นดินเมืองนี้ ได้มีผลอันดีในทางยุติธรรม…” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 455/121 พ.ศ.2446)

หากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ยายก็คงจะอดตายอยู่เช่นเดิม เพราะกฎหมายมรดกยังคงถือหลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” เหมือนในอดีต ทั้งกฎหมายปัจจุบันไม่เปิดช่องให้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาได้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่อาจทรงพิจารณาพิพากษาอรรถคดีด้วยพระองค์เองได้ ดังนั้น สิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติได้คือพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำริดังที่ผมได้เชิญมาแสดงไว้ข้างต้นและในอีกหลายๆ โอกาส เพื่อเป็นข้อคิดสะกิดใจแก่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ให้ช่วยกันนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่าแนวพระราชดำริดังกล่าวได้รับการน้อมนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์”

นับเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มคำว่า “โดยยุติธรรม” เข้ามาในรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และวางไว้เป็นลำดับแรกก่อนคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย” น่าคิดได้ว่าผู้ร่างมีเจตนารมณ์ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมาเป็นลำดับแรก อันสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทดังกล่าวข้างต้น ส่วนในทางปฏิบัติควรจะเป็นเช่นไรนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ช่วยกันใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เจาะทางตันสู่ความยุติธรรมต่อไป

หมายเหตุ – บทความของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี นำเสนอผ่านหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี” ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image