‘เธียรชัย ลาภานันต์’ ตำนานนักคิดคำโฆษณา ผู้คิดยี่ห้อบะหมี่ดังเพราะลูกจะกินนม

นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกาสิงห์สนามหลวง ผู้ก่อตั้งรางวัล “ช่อการะเกด” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 โพสต์ข้อความ เล่าเรื่องราวของ เธียรชัย ลาภานันต์ นักเขียนชื่อดังในอดีตในลักษณะเกร็ดความรู้โดยระบุว่า

ท่านทราบหรือไม่ คำว่า “มาม่า” ที่ติดอยู่ในชีวิตผู้คนในปัจจุบันนั้น ต้นกำเนิดของชื่อ “บะหมี่สำเร็จรูป” ที่ว่านี้ มาจากหนึ่งในเพื่อนพ้อง “พระจันทร์เสี้ยว” ผู้ล่วงลับ เขาชื่อ เธียรชัย ลาภานันต์ กวี นักเขียน และอดีตบรรณาธิการ “ชีวิตกลางแจ้ง” (ถ้าจำไม่ผิดก่อเกิดเมื่อ พ.ศ.2525) ผู้ใช้นามปากกาว่า “นัน บางนรา” และ “เพี้ยน พุ่มชะมวง” เคยรับจ้างเขียนความทรงจำสร้างภาพให้เศรษฐีที่ชื่อ “เทียม โชควัฒนา” ท่านทราบหรือไม่ ครั้งหนึ่งในชีวิตวัยหนุ่ม เขาเคยทำงาน “คิดคำโฆษณาสินค้า” เขาลาลับไปอย่างยากจน และหลายคนลืมไปแล้ว

“พระจันทร์เสี้ยว” คนนี้แหละครับ คือต้นกำเนิดของคำว่า “มาม่า” ภาพปกนิตยสาร “ชีวิตกลางแจ้ง” รายเดือน ที่ เธียรชัย ลาภานันต์ เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการบริหาร และปก “ชีวิตกลางแจ้ง” ที่ท่านเห็นนี้ คือเขาขึ้นเป็นปกในฐานะ “นักตกปลา” ที่แนะนำชีวิตจำพวก Out Door Life มาสู่สถานะแบบคนชั้นกลางของสังคมไทยในช่วงหลังยุค “ป่าแตก” เพราะนโยบาย 66/23 และนโยบาย “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” ในสมัยต่อมาของคนชื่อ “ชาติชาย ชุณหะวัณ” ที่จะนำมาสู่ภาวะ “เศรษฐกิจฟองสบู่” ของสังคมไทยในช่วงรอยต่อแห่งทศวรรษ 2530

สุชาติ ยังระบุอีกว่า เธียรชัย คือผู้คิดคำว่า “มาม่า” ต้นคิดของคำว่า “มาม่า” มาจากช่วงนั้น เธียรชัยเพิ่งได้ลูกสาว และลูกสาวเรียกหา ” หม่า ม้า ” จะกินนม เธียรชัยเลยแวบคำว่า “มาม่า” ขึ้นมา คำๆนี้ก็หมายถึง “แม่” ที่ลูกจะกินนมนั่นเอง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image