‘พระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม’ ใน ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’

ภาพจากศิลปินมหาวิทยาลัยศิลปากร

“เราจะอยู่กับความทรงจำได้นานแค่ไหน”

ประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นในงานเสวนา “พระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม” ใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 21 ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไป

รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตอบคำถามนี้ว่า ส่วนหนึ่งของความทรงจำที่คงอยู่ได้และเป็นความทรงจำที่เราไม่ลืมก็คือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนอกจากจะกระทบใจผู้อ่านแล้ว ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน

พระราชนิพนธ์ชิ้นเอกของพระองค์ท่านคือเรื่อง “พระมหาชนก” รศ.ดร.ตรีศิลป์กล่าว

Advertisement

พระมหาชนกนั้นเป็นชาดกเรื่องที่สองในทศชาติชาดก ซึ่งก็คือชาดกสิบชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ในสังคมไทยเราจะนิยมเรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่เรามีเทศน์มหาชาติตอนออกพรรษา แต่พระองค์ท่านนั้นทรงสดับพระธรรมเทศนาตอนหนึ่งในเรื่องพระมหาชนก คือฉากว่าด้วยต้นมะม่วง 2 ต้น มะม่วงต้นหนึ่งเป็นมะม่วงที่มีดอกผลอุดมสมบูรณ์ ต้นใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา เป็นต้นไม้อันอุดม กับอีกต้นหนึ่งอยู่ข้างๆ กัน โดยมีขนาดพอเหมาะ มีใบเขียว แต่ดอกผลไม่ได้มีมากมายอะไร แต่ต้นที่อุดมสมบูรณ์นั้นถูกแย่งทึ้งโดยประชาชนผู้มีอวิชชาคือความไม่รู้ จนในที่สุดมะม่วงต้นนั้นก็ตาย พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยชาดกเรื่องนี้มาก และทรงศึกษาค้นคว้าก่อนทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น

ในมหาชนกฉบับต้นฉบับนั้นจะมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และในส่วนที่คาถานั้นก็มีตัวอักษรเทวนาครีประกอบด้วย พระราชนิพนธ์ในช่วงต้นนั้นเหมือนในชาดกโดยทรงแปลมา ซึ่งแสดงว่าทรงพระปรีชาสามารถด้านภาษาอย่างยิ่ง ทรงใช้ภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ภาษาละติน ซึ่งน้อยคนมากในประเทศไทยที่จะรู้ภาษาละติน บาลีสันสกฤตก็ทรงใช้ได้ แต่ตอนกลางท้ายๆ ทรงสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ และทรงสอดแทรกพระราโชบายด้านการพัฒนา การพัฒนาที่ได้ต้นมะม่วง 2 ต้นนั้นเป็นต้นแบบ ว่าการพัฒนาที่พัฒนาจนสูงที่สุดและผู้คนนั้นก็ตั้งใจมากอบโกยผลประโยชน์ ในที่สุดนั้นสังคมดังกล่าวก็จะอยู่ไม่ได้ แต่สังคมที่พัฒนาด้วยความพอเพียงจะยั่งยืนอยู่ได้ โดยมีใบเขียวตลอดปีแล้วก็มีลูกผลพอบริโภค เป็นความยั่งยืน มีชีวิตที่ยาวนาน และมีความสงบสันติสุขมากกว่า ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ทรงใช้ผ่านสัญลักษณ์ สัญลักษณ์มะม่วง 2 ต้นนี้ราวกับว่าเป็นต้นแบบของพระราโชบายด้านการพัฒนา

อีกประเด็นหนึ่งที่ทรงเน้นย้ำเสมอ ซึ่งเราควรจะได้น้อมนำเอาไปดำเนินชีวิตก็คือเรื่องของความเพียร มหาชนกนั้นเน้นเรื่องวิริยะ ก็แปลว่าความเพียร ความเพียรของมหาชนกที่ต้องว่ายอยู่ในน้ำทะเลในมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน และที่สำคัญประชาชนต้องไร้อวิชชา คือต้องมีการศึกษา เรื่องพระมหาชนกนั้นจึงทำให้เห็นพระปรีชาสามารถหลายด้าน

Advertisement

จะเห็นว่าความทรงจำไม่เลือนหายตราบใดที่พระราชนิพนธ์ยังอยู่ พระราชนิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนรู้จักตัวละครคือ “ทองแดง” ก่อนหน้าที่เราจะเกิดการรณรงค์แก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดใน change.org อะไรต่างๆ พระองค์นำมาก่อนด้วยการทรงรับเลี้ยงคุณทองแดง คุณทองแดงมาจากสุนัขข้างถนน ชี้ให้เห็นว่าความรักนั้นไร้ชนชั้น สุนัขข้างถนนกลายเป็นสุนัขซึ่งแสนที่จะรู้ ไม่ต้องไปเลี้ยงสุนัขราคาแพง พระองค์บอกว่าสุนัขนั้นเรียกว่า สุนัขเทศ เทศในวงเล็บนั้น คือ เทศบาล ก็คือมาจากข้างถนน เวลาเห็นภาพของคุณทองแดงนี่ไม่น่าเชื่อว่าจะแสนรู้ขนาดนั้น เป็นพระราชนิพนธ์ที่อ่านได้ทุกเพศทุกวัย และเป็นการนำเสนอว่าความรักนั้นต้องแผ่ไพศาล ไม่เพียงแต่รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่สัตว์ต่างๆ ก็ต้องมีความเอื้ออาทรด้วย

ในส่วนของพระปรีชาสามารถด้านการแปล ทรงมีพระราชนิพนธ์แปล 2 เรื่องใหญ่ก็คือ นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ฟังดูแล้วชื่อไม่เห็นน่าเป็นเรื่องแปลเลย จริงๆ ทรงแปลมาจากภาษาอังกฤษเรื่อง “A Man Called Intrepid” โดย William Stevenson Intrepid คือชื่อสมญานามของสายลับในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงแปลใหม่เลยว่าเป็นนายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ชื่อเรื่องก็บอกแล้วถึงสิ่งที่พระราชประสงค์ที่จะบอกว่าความดีเมื่อทำแล้วไม่ต้องป่าวประกาศ คนดีที่แท้จริงก็คือคนที่ปิดทองหลังพระ นายอินทร์ก็เป็นเรื่องของคนที่สู้เพื่อสันติภาพในยุคที่เราเกิดสงครามของมนุษยชาติคือสงครามโลกครั้งที่ 2 การรุกรานของนาซี และในที่สุดปฏิบัติการสายลับ อ่านสนุกด้วยนะคะ มีเรื่องราวตื่นเต้นแบบสายลับ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ติโต เป็นชีวประวัติของ ติโต หรือ นายโยซิบ โบรซ (Josip Broz) ผู้นำที่รวบรวมยูโกสลาเวียที่ประกอบขึ้นด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่น และรอดพ้นจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ โดยเป็นพระราชนิพนธ์แปลจากหนังสือ Tito ของ Phyllis Auty โดยทรงแปลไว้ในปี พ.ศ.2519 ตีพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่ายในปี พ.ศ.2537 เวลาเราอ่านแล้วเรารู้สึกว่านี่มันประเทศเราหรือเปล่านะ ตีกันไม่เลิกเลย

ยังมีอีกเล่มที่ รศ.ดร.ตรีศิลป์บอกว่าหายากมากแล้ว ซึ่งสมาคมภาษาและหนังสือฯได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตีพิมพ์พระราชบันทึกในช่วงประมาณปี 2489 คือบันทึกที่ใช้ชื่อว่า “เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม มาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารชื่อ วงวรรณคดี

ดิฉันคิดว่าบันทึกประจำวันนี้ทำให้ประชาชนได้เห็นพระองค์ท่านในหลายมุม ตอนนั้นยังทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระเยาว์และจะต้องจากบ้านเมืองไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ มีวันหนึ่งคือวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ท่านต้องเสด็จฯ ไปลานมัสการลาพระแก้วมรกตและก็พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการต่างๆ และก็เสด็จประทับฝูงชน บันทึกของพระองค์ท่านสะท้อนถึงความเป็นพระราชาซึ่งมีประชาชนในหัวใจ ตอนหนึ่งนั้นพระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า

“พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่ามีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังก็ปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลางราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุดถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นบ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า อย่าทิ้งประชาชน อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลแล้ว”

พระราชบันทึกนี้ทำให้เราได้ตระหนักว่าในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านนั้นมีพวกเราคือประชาชนอยู่ในพระราชหฤทัย และอยู่ในพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านตลอดเวลา พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาในแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงพระปรีชาสามารถ ดิฉันเป็นแค่ครูสอนวรรณคดีก็จะพูดแต่แค่ในเชิงวรรณศิลป์ ไม่น่าเชื่อว่าบุคคลคนเดียวจะทรงเป็นองค์อัครศิลปิน ทรงสามารถในศิลปะทุกแขนงจริงๆ นอกจากนี้ยังมี “โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ” ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ โดยสนับสนุนเรื่องการอ่านและทรงทุ่มเทที่จะทำให้เกิดสารานุกรมให้เยาวชนไทยได้อ่านอะไรที่ทันสมัยที่เป็นองค์ความรู้ ประเทศอื่นๆ มีเอนไซโคปิเดีย มีวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ของไทยหน่วยงานภาครัฐไม่มี พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริทำขึ้นมาเอง และเป็นโครงการที่ยั่งยืนมาก

ดิฉันอยากให้ทุกคนได้ศึกษาสิ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทย วรรณศิลป์เหล่านั้นจะไม่ได้สร้างแต่ความบันเทิงแต่ว่าพระองค์ได้พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ มากมาย ซึ่งถ้าเราไม่ได้อ่านเราก็จะไม่ได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้

ซึมซับทั้งปัญญาและความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งแก่ชีวิตเรา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image